POLITICS

ปชน.​ ร่วมเครือข่ายแรงงาน-สตรี เสวนาวันสตรีสากล สะท้อนปัญหาแรงงานหญิง

ปชน.​ ร่วมเครือข่ายแรงงาน-สตรี เสวนาวันสตรีสากล สะท้อนปัญหาแรงงานหญิง-สิทธิลาคลอด 90 วัน

วันนี้ (8 มี.ค. 68) ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสตรีและแรงงาน จัดเสวนา “Women Forward: ก้าวข้ามเพื่อความเท่าเทียม” เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล โดยมี ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน,​ อรุณี ศรีโต อดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี, มาลี เตวิชา ผู้แทนผู้ชุมนุมกลุ่มแรงงานยานภัณฑ์ และ ประภาพร ผลอินทร์ ตัวแทนเครือข่ายไรเดอร์ ร่วมเสวนา

อรุณี เล่าถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานและสตรีในไทย ตั้งแต่สมัยที่ตนเองเป็นคนงานในยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรก​ ๆ เป็นยุคที่โรงงานทอผ้ารุ่งเรือง ค่าแรงอยู่แค่วันละ 10 บาท ไม่มีกฎหมายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ โรงงานที่ทำคนงาน 80% เป็นแรงงานหญิง เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติและความเหลื่อมล้ำ ผู้หญิงได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย จนกระทั่งมีกฎหมายแรงงานปี 2518 มีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้นำแรงงานหญิงใช้การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่า ผู้หญิงก็เป็นผู้นำในขบวนการแรงงานและองค์กรอื่น​ ๆ ได้

อรุณี​ กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน​ มีการรณรงค์ตั้งแต่ปี 2535 สมัยนั้นคนงานราชการลาคลอดได้ 60 วัน​ ได้รับค่าจ้างทั้ง 60 วัน ขณะที่คนงานในระบบอื่น​ ๆ ได้รับค่าจ้างแค่เดือนเดียว คนงานจึงเริ่มรณรงค์ ชุมนุม จนรัฐบาลยอมออกกฎหมายลาคลอด 90 วันในวันแรงงานปี 2536

ประภาพร​ ระบุว่า ที่ผ่านมาพยายามขับเคลื่อนสิทธิของแรงงานขับรถจักรยานยนต์บริการรับส่งอาหาร หรือ ‘ไรเดอร์’ มาโดยตลอด บางครั้งทำงานหนักจนไม่ได้ดูแลสุขภาพ สมัยที่ค่ารอบยังดีถึง 60 บาทต่อรอบก็พออยู่ได้ แต่ตอนนี้ลดเหลือ 10-15 บาทต่อรอบ ไรเดอร์ต้องวิ่งให้ได้รอบมากขึ้น ถ้าไม่ได้ตามรอบก็ต้องอยู่จนดึกขึ้น​ ไรเดอร์ที่เป็นเพศหญิงและแม่คนได้รับผลกระทบหนัก หลายคนต้องเอาลูกมาทำงานด้วย​ สถานะของไรเดอร์ในปัจจุบันไม่มี พ.ร.บ. คุ้มครองดูแล ไม่มีการควบคุมแพลตฟอร์มต้องดูแลสิทธิของแรงงาน

มาลี ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนงานบริษัทยานภัณฑ์ที่ถูกเลิกจ้างโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ระบุว่าพนักงานทั้ง 859 คนที่ถูกเลิกจ้าง มีทั้งคนท้องและคนพิการที่ออกมาชุมนุมกินนอนข้างถนนหน้าบริษัทมา 2 เดือน และยังถูกนายจ้างฟ้องร้องว่าขัดขวางไม่ให้เข้าออกสถานที่ แม้จะยังไม่ได้รับสิทธิ แต่ก็จะยืนหยัดต่อสู้จนกว่าจะได้รับสิทธิ

ศศินันท์​ กล่าวว่า พ.ร.บ.แรงงานของพรรคประชาชนที่ถูกคว่ำไปในครั้งแรก แม้จะเป็นกฎหมายที่ดีมาก แต่ลับหลังได้ฟัง สส.พรรคอื่น เวลาคุยกัน​ ไม่ได้มองว่ากฎหมายเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่มองในมุมแค่ว่ากฎหมายจะทำให้นายจ้างลำบากขึ้น โดยเฉพาะการลาคลอด 180 วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้หญิง 100 คนจะคลอดพร้อมกันทั้ง 100 คน และไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนอยากท้องเพราะอยากลาคลอด

ทั้งนี้​ การลาคลอดเป็นเรื่องพื้นฐาน การลาคลอด 3 เดือนไม่ใช่การลาคลอดด้วยซ้ำ แต่เป็นการลาเพื่อให้ระบบร่างกายของแม่กลับฟื้นเป็นปกติ 3 เดือนหลังจากนั้นถึงจะเป็นช่วงที่แม่จะได้เริ่มให้นมลูกอย่างเต็มที่จริง​ ๆ การลาคลอด 6 เดือนจึงไม่ได้มากเกินไปกว่าที่รัฐจะให้ได้

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat