POLITICS

‘ราเมศ’ ยัน ปชป. ไม่ปล่อย ส.ส.ฟรีโหวต เลือกนายกฯ

‘ราเมศ’ ยัน ปชป. ไม่ปล่อย ส.ส.ฟรีโหวต เลือกนายกฯ ระบุ อย่าใช้กระบวนการทางสังคมกดดันโหวตให้ ‘ก้าวไกล’ ลั่น รัฐสภาต้องมี ฝ่ายค้าน – รัฐบาล ถ้าเห็นด้วยหมดคงต้องยุบไปรวมกับก้าวไกล

วันนี้ (7 ก.ค. 66 ) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม นี้ โดยนายราเมศ ระบุว่าภายหลังการโปรดเกล้าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะมีการประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเลยช่วงวันที่ 9 กรกฎาคมที่พรรคมีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว โดยจะมีการประชุมหารือร่วมกันของ ส.ส. 25 ท่านตามข้อบังคับพรรคว่าจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง การตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล หลังจากวันที่ 9 คาดว่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ยืนยันว่าในส่วนของพรรคไม่มีการปล่อยฟรีโหวต ต้องเป็นไปตามมติพรรคในการกำหนดทิศทางทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ” นายราเมศระบุ

ส่วนการจะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อไรนั้น ต้องรอให้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะเป็นอำนาจของหัวหน้าพรรคที่จะมากำหนดวันในการประชุมนัดแรก แต่โดยหลักการแล้วก็ต้องเรียกประชุมให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องให้ทันวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยพรรคต้องมีความชัดเจนเพราะสังคมอาจจะตั้งคำถามได้ เนื่องจากการโหวตเลือกนายกเป็นการกระทำโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องที่ปกปิดไม่ได้

ส่วนการวางหลักการในการโหวตนายกรัฐมนตรี จะเป็นอย่างไรนั้น นายราเมศกล่าวว่า ขณะนี้ ส.ส.ทั้ง 25 ท่านคงได้มีการพูดคุยในกรอบกว้างๆ แล้ว เพราะแต่ละกลุ่มจะได้นำผลการพูดคุยที่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง เชื่อว่านักการเมืองทุกกลุ่มคงมีการจับกลุ่มคุยกันว่า 25 เสียงควรจะโหวตไปในทิศทางไหน และจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี จะไปร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล

“ตนเองไม่สามารถพูดหรือชี้นำได้ว่าจะมีการเลือกนายกฯ ไปในทิศทางไหน สิ่งที่ตนเองพูดได้ในฐานะโฆษกพรรคต้องเป็นมติตามข้อบังคับพรรคเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ในพรรคยังไม่มีการพูดคุยว่าจะโหวตไปในทิศทางไหน”ฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ทั้งนี้นายราเมศ ได้แสดงความเห็นส่วนตัว ถึงการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก หากคำนึงถึงเอกภาพของการเมือง และการสร้างความเชื่อมั่น เสียงในสภาฯ จะต้องเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลอุ่นใจได้ว่า การบริหารราชการแผ่นดินจะไม่เกิดอุปสรรค หากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การดำเนินงานจะเดินได้ยาก โดยเฉพาะการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะต้องมีเสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่มีจำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกับฝั่งเสียงข้างมาก จนทำให้เกิดการซื้อตัว ส.ส. ขึ้นหรือไม่ นายราเมศ มองว่า เช่นนั้นจะทำให้การเมืองกลับไปแบบย้อนยุค ซึ่งไม่สามารถรับประกันได้เลยว่า เราจะกลับมาตั้งต้นในระบอบประชาธิปไตยได้ แต่อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในกลุ่ม ส.ส. มีการพูดคุยกันถึงประเด็นนี้ นักการเมืองทุกคนให้ความสนใจว่า ทิศทางการเมืองจะไปทางใด

ส่วนทิศทาง ของพรรคประชาธิปัตย์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ นายราเมศ ระบุว่า การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ จะมาบีบบังคับให้พรรคการเมืองคิดตามเสียงข้างมากทั้งหมดคงไม่ได้ หากพรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตย ที่อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตยมาบอกว่า เสียงของพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคเสียงข้างมากถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น แสดงว่า พรรคนั้นไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยเสียเอง การเมืองระบบรัฐสภามี 2 ฝั่ง คือฝั่งรัฐบาลและฝั่งฝ่ายค้าน

นายราเมศยังเน้นย้ำว่า ถ้าหากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันหมด จับมือเป็นรัฐบาลร่วมกันให้หมดไม่ดีกว่าเหรอ แต่นี่คือรัฐสภา หากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือพรรคใดบอกว่าไม่เห็นด้วย ก็ต้องรับฟัง

นายราเมศกล่าวต่อไปว่า เวลานี้ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน ไม่ใช่คนที่จะมารับใช้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่งเชื่อมั่นว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทาร์ ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ได้ดีอยู่แล้ว

ในส่วนประเด็นการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่จะต้องมีการยื่นต่อสภาฯ นั้น นายราเมศ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฎหมายของสภาฯ ถือว่าเป็นสิ่งที่มั่นคงที่สุดว่า การแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ขัดและแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ดังนั้น หากมีการยื่นร่างกฎหมายนี้ เชื่อว่า ส.ส. ทั้ง 25 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมีการถกเถียงต่อสู้ด้วยเหตุและผลในสภาฯ และเชื่อว่า การแก้ไข ม.112 จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ ส.ส.ทุกคนพิจารณาว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ

สำหรับกระแสสังคมที่คิดเห็น พรรคประชาธิปัตย์หยุดการแก้ไข ม. 112 มาเป็นข้ออ้างในการไม่เคารพหลักการโหวตนายกฯ ที่มาจากพรรคอันดับ 1 นายราเมศ กล่าวว่า หากทุกคะแนนเสียงหรือมีประเพณีปฏิบัติว่า ใครจะเป็นนายกฯ ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน ไม่ต้องมีฝ่ายรัฐบาล 8 พรรคแกนนำก็ไม่ต้องไปจัดตั้งรัฐบาล ให้รวมทุกพรรคเป็นรัฐบาลเลย เพื่อที่จะบอกว่าโหวตให้ พิธา เป็นนายกฯ แต่นี่เป็นสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า ส.ส.สามารถใช้สิทธิของเขาได้ ดังนั้น เรื่อง ม.112 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เหล่า ส.ส.จะนำมาประกอบการพิจารณาการโหวตเลือกนายกฯ ของเขา เช่นกัน

“ถ้าจะบอกว่า เสียงข้างมากชนะการเลือกตั้งแล้ว มาบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์เลือก พิธา เป็นนายกฯ เราจะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม ยุบไปรวมกับพรรคก้าวไกลเลยดีไหม ตนถึงบอกว่า หลักประชาธิปไตยก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่ใช่ว่าเสียงข้างมากได้มา 14 ล้านเสียงแล้ว พรรคนี้ไม่ยกมือให้เป็นนายกฯ ก็ใช้ขบวนการสังคมประชาชนมากดดันเขาว่าไม่ยกมือให้ไม่ได้” นายราเมศ ระบุ

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat