POLITICS

‘ราเมศ’ แจงเคาะ 9 ก.ค. นี้ ยัน ยังไม่รู้ใครเป็นแคนดิเดตบ้าง

‘ราเมศ’ แจงขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป ก่อนเคาะ 9 ก.ค. นี้ ยัน ยังไม่รู้ใครเป็นแคนดิเดตบ้าง

วันนี้ (7 ก.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงถึงประเด็น การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม นี้ โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 08:30 น.

นายราเมศ ได้ระบุถึงขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคว่า ขั้นตอนทั้งหมดของการจัดการประชุมประกอบไปด้วย คณะกรรมการสองชุดซึ่งมีการเตรียมการไว้ครบถ้วนแล้ว

ชุดแรกคือคณะกรรมการที่มี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นประธาน จัดการประชุม และชุดที่ 2 ที่มีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สามารถ ราชพลสิทธิ์ และตนเอง ที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ดูแลรับผิดชอบการเลือกตั้งครั้งนี้

ขณะนี้มียอดองค์ประชุมคือ 367 คน เนื่องจากมีบางท่านไม่สะดวกเข้าร่วมประชุม ซึ่งตามกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดองค์ประชุมครบคือ 250 คน ทั้งนี้การประชุมในครั้งนี้มีสองวาระด้วยกันคือการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าพรรค

นายราเมศกล่าวว่า โดยหลักการเป็นไปไม่ได้ที่พรรคจะปิดโอกาสไม่ให้สมาชิกพรรคคนใดคนหนึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรค สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่สมาชิกที่มี คุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค
(2) เป็นหรือเคยเป็นคณะกรรมการสาขาพรรค
(3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค
(4) เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรีในนามพรรค
(5) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง
(6) สมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค

ส่วนบุคคลที่จะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคนั้นข้อที่ 32 กำหนดว่า ผู้ที่จะมาลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคจะต้องมีคุณสมบัติคือเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค แต่หากไม่เคยเป็นในนามพรรคก็จะใช้หลักเกณฑ์เหมือนกับข้อ 31 คือที่ประชุมสามในสี่ขององค์ประชุมมีมติเห็นชอบให้สมัครเป็นหัวหน้าพรรคได้
ซึ่งหากจะมีใครที่เป็นสมาชิกพรรคจะใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับพรรคนี้ก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิกพรรค และเมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระคณะกรรมการการเลือกตั้งของพรรคก็จะกลับเข้าไปดำเนินการในการเลือกหัวหน้าพรรค รองหัวหน้า พรรคและ ลำดับอื่นๆ ต่อไป

ส่วนการที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางคนอยากจะใช้สิทธิ์ในการยกเว้นข้อบังคับในข้อที่ 137 คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคมีสัดส่วนคะแนนมากกว่าสมาชิกพรรคคนอื่นอื่น แต่อยากให้เป็นการโหวตในลักษณะหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงแทน นั้น นายราเมศระบุว่า ข้อบังคับระบุว่าอาจมีสมาชิกคนหนึ่งยกมือให้ยกเลิกข้อบังคับในที่ประชุมได้นั้นทำได้ตามหลักเกณฑ์ของข้อบังคับแต่ต้องมาดูว่าเมื่อจะใช้ข้องดเว้นดังกล่าวนั้นจะต้องมีคะแนนเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่าสามในห้าในการงดเว้น ข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเป็นจำนวนเท่าไหร่เนื่องจากต้องคำนวณในวันประชุมจริง

นายราเมศยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์มีหลักมีเกณฑ์ในการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ว่าจะมีการเสนอตัวมากี่คนทุกคนต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับพรรคทั้งหมดไม่มีใครจะได้เปรียบเสียเปรียบจากข้อบังคับดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองถ้าเกิดไม่ทำตามหลักความถูกต้อง ไม่เป็นตัวอย่างทางสังคมพรรคประชาธิปัตย์อยู่มาถึงวันนี้ไม่ได้

นายราเมศยังได้ระบุต่อถึงการเลือกหัวหน้าพรรคเมื่อมีการเสนอแคนดิเดตหัวหน้าพรรคแล้วไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด คณะกรรมการการเลือกตั้งของพรรคได้ กำหนดให้ มีการแสดงวิสัยทัศน์เป็นเวลา 7 นาที

ทั้งนี้นายราเมศได้มีการแสดงบัตรเลือกตั้งทั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเป็นบัตรสีฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 70% ของคะแนนการโหวต และบัตรใบที่สอง สีชมพู เป็นบัตรขององค์ประชุม คิดเป็น 30%

นายราเมศยังได้เน้นย้ำว่าการเลือกหัวหน้าพรรคของพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามข้อบังคับและข้อยกเว้นแต่ทุกการกระทำของสมาชิกนั้นสมาชิกต้องรับผิดชอบ

ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้เป็นองค์ประชุมแต่มีความต้องการที่จะสังเกตการณ์การประชุมนั้นนายราเมศระบุว่า ตนเองได้เสนอให้มีการเตรียมเก้าอี้ให้สมาชิกในการสังเกตการณ์การประชุมอยู่แล้วเพื่อเป็นการให้เกียรติสมาชิกและจะมีการแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ รวมถึงอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคให้ฟังเสียงสมาชิกที่ไม่ได้มาร่วมประชุมวิสามัญว่ามีเสียงสะท้อนอย่างไร ต่อเรื่องหัวหน้าพรรคคนใหม่

นายราเมศยังได้ตอบคำถาม ถึงการที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชนในการลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคนั้น โดนระบุว่า ตามข้อบังคับแล้วจะเห็นว่ามีใครบ้างที่เป็นผู้สมัครอย่างเป็นทางการชัดเจนในวันที่ 9 กรกฎาคมซึ่งจะต้องมีการให้สมาชิกลุกขึ้นเสนอและมีการขอเสียงรับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมและต้องมีคุณสมบัติในการลงสมัครกรรมการบริหารพรรคครบถ้วนถึงจะรู้ว่ามีใครบ้างที่ เป็นผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

สำหรับ กระแสข่าวที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งนั้น นายราเมศระบุว่า นายอภิสิทธิ์เป็นคนที่มีศักยภาพและมีความเป็นประชาธิปัตย์สูง มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการการแข่งขันตามข้อบังคับ แต่คิดว่าสมาชิกทุกคนยินดีที่จะมีการแข่งขันและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอตัวมาเป็นเรื่องปกติ

Related Posts

Send this to a friend