POLITICS

โฆษก กทม.แถลงผลงาน 30 วันผู้ว่าฯ เน้นความโปร่งใส ไร้การทุจริต

โฆษก กทม.แถลงผลงาน 30 วันผู้ว่าฯ เน้นความโปร่งใส ไร้การทุจริต ประสานทุกองค์กร จี้ปรับการสื่อสารภายในองค์กร ด้านประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.เผย ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องสุขภาพผู้ว่าฯ จากการทำงานหนัก เพราะเป็นเรื่องปกติที่ทำมากว่า 30 ปีแล้ว

วันนี้ (7 ก.ค. 65) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว 30 วัน กทม. สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน

นายเอกวรัญญู กล่าวถึง การทำงานของผู้ว่าฯกทม.ที่เน้น การเข้าถึงง่าย ติดดิน และเป็นตัวของตัวเอง สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการไลฟ์เพราะเมื่อไลฟ์แล้วพบปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขโดยไม่ต้องผ่านการสั่งการจากเจ้าหน้าที่ กทม. และในตอนนี้ได้นำนโยบายของผู้ว่าฯ ทั้ง 216 นโยบาย ผูกเข้ากับโครงการต่างๆของกทม.ที่มีอยู่แล้ว ทั้งในโครงการของปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถผลักดันนโยบายได้ตามที่เคยหาเสียงไว้

ส่วนประเด็นที่มีความสำคัญ คือนโยบาย 4 ด้าน ประกอบด้วย การแก้ปัญหาน้ำท่วม ความปลอดภัยบนท้องถนนและทางม้าลาย หาบเร่แผงลอย และสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

การแก้ปัญหาน้ำท่วม ในเบื้องต้นได้ให้ความสำคัญเรื่องการขุดลอกท่อในพื้นที่รอบ กทม. จากความยาวรวมกัน 6,564 กิโลเมตร ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 3,390 กิโลเมตร ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 กรกฎาคม พบว่าขุดลอกท่อไปแล้ว 2,387 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 70.4% ฉะนั้นอีกภายใน 2 เดือนจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมราชทัณฑ์

เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนและทางม้าลาย กรุงเทพมหานครมีทางม้าลายอยู่ 2,591 จุด สำรวจแล้วพบปัญหา 1,620 จุด ภายในเดือนกันยายนนี้มีแผนที่จะดำเนินการติดตั้ง เสาสัญญาณข้ามทางม้าลาย 80 จุด นอกจากนี้สำนักเทศกิจจะเร่งทำทางม้าลาย และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิดตามโครงการ School care ที่เดิมมีเจ้าหน้าที่ดูแลโรงเรียนอยู่ 346 แห่ง ทั้งสังกัดกทม.และสพฐ. แต่ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ผู้ว่าฯกทม.เตรียมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าดูแลโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้งหมด 437 แห่ง ทั้งส่วนการจราจร ความสะดวก และความปลอดภัยของเด็กนักเรียน

ปัญหาพื้นผิวจราจร ผู้ว่าฯกทม. ได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนพื้นผิวจราจร อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และการพัฒนาทางเท้าซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนเป็นอันดับ 2 ในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องการจัดการสายไฟ และสายสื่อสารที่ได้หารือกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะจัดการให้แล้วเสร็จ 800 กิโลเมตรเพื่อกำจัดสายตายหรือสายที่ไม่ได้ใช้งานออก และยังมีเรื่องหมวกนิรภัยสำหรับเด็กที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มอบหมวกนิรภัยให้เด็กนักเรียนได้ใช้ 126,117 ใบ

ประเด็นการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย จากเดิมมีหาบเร่แผงลอยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่ 55 จุด กทม.จึงเห็นชอบประกาศพื้นที่เพิ่มอีก 31 จุด และให้แต่ละเขตไปสำรวจพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมอีก 198 จุด และพื้นที่ภาครัฐและเอกชนอีก 124 จุด เพื่อให้ผู้ประกอบการชาวบ้านมีพื้นที่ทำมาหากิน โดยจะจัดระเบียบให้ผู้ประกอบการมีการลงทะเบียนที่เป็นระบบ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งช่วยจัดระเบียบความเรียบร้อย และการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะมีมาตรการลดราคาค่าเช่าแผงค้าในตลาดของ กทม. 50% เป็นเวลา 3 เดือน และลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำของ กทม. เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจด้วย

เรื่องสุดท้ายของนโยบายเร่งด่วน คือการจัดการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ล่าสุดจากการหารือกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ข้อสรุปว่าจะมีการเก็บค่าโดยสารเดินรถส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วน เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยและค่าเดินรถเอกชน ที่สำคัญคือ ผู้ว่าฯ ตั้งใจที่จะเปิดเผยสัญญาให้ประชาชนได้รับทราบด้วย

ส่วนนโยบาย Open bangkok คือความตั้งใจหลักของผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการเปิดเผยความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้ โดยเริ่มจาการเปิดร่างงบประมาณให้ประชาชนได้ทราบรายละเอียดงบจำนวน 79,000,000,000 บาท (เจ็ดหมื่นเก้าพันล้านบาท)

นายเอกวรัญญู โฆษก กทม. เผยว่า นายชัชชาติได้เน้นย้ำให้ทุกส่วนทำงานแบบประสานงานร่วมมือกันเป็นหัวใจหลัก ซึ่งในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา กทม.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล 29 หน่วย เอกชน 15 หน่วย องค์กรศึกษาและวิจัย 8 หน่วย ภาคประชาสังคม 5 หน่วย และต่างประเทศ 14 ประเทศ ความสำเร็จที่เห็นจากการประสานงานคือนโยบายต้นไม้ล้านต้นภายใน 1 เดือน มียอดปลูกแล้ว 1 ล้าน 3 แสนต้น เป็นความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน

นายเอกวรัญญู กล่าวต่อว่า นโยบายผู้ว่าฯสัญจรเป็นหนึ่งในการประสานงาน เพราะการประสานในที่นี้ คือการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาและลงพื้นที่แก้ไข เพราะนอกจากผู้ว่าฯจะไปร่วมประชุมตามเขตแล้ว จะได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรงด้วย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสัญจรได้ครบทั้ง 50 เขต และประชาชนยังสามารถแจ้งปัญหาผ่าน แอปพลิเคชั่น Traffy fondou ได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนแล้ว 60,750 เรื่อง เฉลี่ยใน 1 วันมี 2,025 เรื่อง
ปัญหาร้องเรียนมากสุดคือเรื่องถนน หน่วยงานที่รับเรื่องแก้ไขแล้วมากที่สุดคือสำนักการโยธา ได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว 27,937 เรื่อง

เอกวรัญญู กล่าวสรุปภาพรวมการทำงานของกทม. ใน 30 วัน ว่า ผู้ว่าฯกทม.เน้นเรื่องการทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ แก้ไขคอร์รัปชั่น และเน้นการประสานงาน โดยประสานงานไปแล้วกว่า 100 หน่วยงาน และพบว่าปัญหาที่มากที่สุดคือการสื่อสารภายในองค์กร ที่จะมุ่งเน้นการสื่อสารไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

นอกจากนี้ ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ใครที่ห่วงเรื่องปัญหาสุขภาพของผู้ว่าฯกทม. ขอบอกว่าไม่ต้องห่วงเพราะที่ผ่านมาทำแบบนี้เป็นปกตินานกว่า 30 ปีแล้ว การจะทำงานกับผู้ว่าฯกทม.สิ่งสำคัญคือต้องทำมากกว่า 100% เพราะตั้งแต่สมัยเรียน ผู้ว่าฯ ไม่เคยสอบได้ที่ 2 การที่เราทำได้ 100% นั่นหมายความว่าอาจจะได้เพียง 90% ของผู้ว่าฯและที่สำคัญคือไม่ชอบคนเดินตาม ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน เพราะจะไม่ได้ทำงานที่ควรทำ

Related Posts

Send this to a friend