บ้านสมเด็จโพลล์ เผยผู้ใช้บริการแพคเกจสตรีมกว่า 73% ชี้ไม่ควรมีโฆษณาคั่นในแพกเกจสมาชิก
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,114 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 7-10 เมษายน 2567
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นจำนวนมาก ผู้ให้บริการมีทั้งที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยที่เสียภาษีให้กับประเทศแบบถูกต้อง และแบบที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน กสทช.ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากำกับดูแล OTT ทำให้ไม่สามารถควบคุมเนื้อหา และราคาที่เหมาะสมกับผู้บริโภค การมีโฆษณาคั่นในการรับชมผ่าน OTT แม้จะชำระค่าสมาชิกหรือค่ารับชมแล้วก็ตาม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร รวมถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ให้บริการ IPTV และ OTT ทั้งที่รูปแบบของการให้บริการไม่ได้แตกต่างกัน
ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ใช้บริการ OTT ร้อยละ 91.3 ใช้บริการแบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 87.1 และใช้บริการมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม ร้อยละ 90.1
ทั้งนี้ มีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทในประเทศไทย
อันดับที่หนึ่ง คือ TRUEID ร้อยละ 49
อันดับสอง คือ AISPLAY ร้อยละ 44.3
อันดับสาม คือ 3 PLUS ร้อยละ 18
อันดับที่สี่ คือ MONOMAX ร้อยละ 13.3
อันดับที่ห้า คือ Bugaboo inter ร้อยละ 8.4
มีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทอยู่ในต่างประเทศ
อันดับที่หนึ่ง คือ Netflix ร้อยละ 67
อันดับที่สอง คือ Youtube ร้อยละ 48.7
อันดับที่สาม คือ Disney plus Hotstar ร้อยละ 15.3
อันดับที่สี่ คือ Viu ร้อยละ 13.3
อันดับที่ห้า คือ iQIYI ร้อยละ 12.2
ปัจจุบันมีการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ OTT ต่อเดือน มากที่สุด เดือนละ 1–500 บาท ร้อยละ 75.5 โดย ร้อยละ 65.8 คิดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการในปัจจุบันมีความเหมาะสม และ ร้อยละ 74.7 คิดว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมคือ 1–500 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการ OTT แบบเสียค่าสมาชิกส่วนใหญ่คิดว่า ไม่ควรมีโฆษณาคั่นในแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 73.8 และ 25.6% เคยพบโฆษณาคั่นในแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก ซึ่งเหตุผลที่ใช้บริการแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก อันดับที่หนึ่ง คือ ต้องการรับชมเนื้อหาที่สนใจ ร้อยละ 72.2 อันดับที่สอง ไม่ต้องการรับชมโฆษณา ร้อยละ 19.4 อันดับที่สาม ต้องการติดตามดาราที่ชื่นชอบ ร้อยละ 6.8
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คิดว่าภาครัฐควรจัดเก็บภาษีของผู้ให้บริการ OTT ร้อยละ 42.3 และภาครัฐไม่ควรมีการกำกับเนื้อหา ร้อยละ 51 ของผู้ให้บริการ OTT อีกทั้งภาครัฐควรมีการกำกับราคาค่าสมาชิกของผู้ให้บริการ OTT ร้อยละ 70.2 ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้ทางภาครัฐมีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการ OTT ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ อันดับที่หนึ่ง คือ จ่ายค่าปรับ ร้อยละ 76.4 อันดับที่สอง ปิดการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 42.1 อันดับที่สาม ยึดใบอนุญาต ร้อยละ 1.9