‘พิมพ์ภัทรา’ ห่วง ฝนตกทำสารเคมีรั่วไหลลงแหล่งน้ำ
‘พิมพ์ภัทรา’ ห่วง ฝนตกทำสารเคมีรั่วไหลลงแหล่งน้ำ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และแก้ปัญหา ชี้ เหตุโรงงานไฟไหม้ถี่ มองได้หลายมุม หากเป็นการวางเพลิงเพื่อเลี่ยงกฎหมายใหม่ ถือเป็นภัยความมั่นคง พร้อมทำงานเชิงรุก ปูพรมตรวจโรงงานเสี่ยง
วันนี้ (7 พ.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขนย้ายกากแคดเมียม รอบที่ 2 จาก จ.สมุทรสาครไปที่โรงพักคอย จ.ตาก ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของสภาพอากาศที่มีฝนตก และให้ขนกากที่อยู่นอกอาคารเข้าไปเก็บในอาคาร และพยายามเคลื่อนย้ายให้เป็นไปตามแผน สิ่งไหนที่ปรับเพื่อคลายความกังวลได้ก็ทำ เช่น การขนส่งก็เปลี่ยนมาใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า โดยเมื่อวานนี้ รถที่ใช้ในการขนส่งได้ออกจาก จ.สมุทรสาครแล้ว 8 คัน ไปถึงหน้างานที่ จ.ตาก แล้ว อยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายถุงลงจากรถ ส่วนจำนวนรถที่ใช้ในการเคลื่อนย้าย เราพยายามทำให่ได้ตามกำหนดการ แต่หากได้รถเพิ่มขึ้นก็จะดีที่สุด
ส่วนกรณีที่โรงงานในหลายพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น น.ส.พิมพ์ภัทรา ระบุว่า ส่วนนึงมาจากสภาพอากาศ และการเฝ้าระวังที่ล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธานที่ให้แต่ละจังหวัด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกสำรวจพื้นที่โรงงานที่มีความเสี่ยง ภายใน 20 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมผลเข้าสู่คณะกรรมการ โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ในพื้นที่ กทม. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ไปลงตรวจเต็มพื้นที่แล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ควรที่จะต้องระมัดระวังร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือโรงงานที่จะต้องช่วยกัน
ส่วนกรณีที่กรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์ว่าเป็นการวางเพลิง เพื่อเลี่ยงกฎหมายใหม่ที่จะมาบังคับใช้ น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า คิดได้หลายมุม ซึ่งอันดับแรกกฎหมายบังคับแล้วว่าจะต้องเคลียร์กากตะกอนสารเคมีออกจากโรงงาน ถ้าคิดในมุมไม่ดี ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ การเผาไม่ต้องเสียค่ากำจัด ซึ่งผู้ประกอบการต้องยอมรับด้วยว่าการกระทำแบบนี้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบจำนวนมาก เรื่องนี้คงเป็นเรื่องการวางเพลิงไม่ได้ จะต้องยกระดับความรุนแรง ปฏิบัติการแบบนี้หมายถึงความมั่นคงแล้ว ตนจึงขอความช่วยเหลือจากฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าตำรวจหรือดีเอสไอ เข้าไปดูแลเรื่องนี้ด้วย
น.ส.พิมพ์ภัทรา ยังกล่าวอีกว่า โรงงานที่ถูกศาลสั่งให้คืนพื้นที่ และต้องจัดการกับกากสารเคมีทราบว่ามีกี่เจ้า เพียงแต่เวลาทำไม่ดีทำได้ง่ายกว่า คนที่ไม่รับผิดชอบทำง่ายกว่าคนที่รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้มีโรงงานในลักษณะดังกล่าว 6-10 โรงงาน
ส่วนจะมีการเอาผิดโรงงานเหล่านี้ได้หรือไม่ น.ส.พิมพ์ภัทรา ระบุว่า วันนี้ที่ทำควบคู่กันไป คือกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอแก้กฎหมายเพิ่มโทษ พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้เป็นภัยความมั่นคง ที่ชาวบ้านโดยรับได้รับผลกระทบ เราไม่ได้มองแค่เรื่องไฟไหม้ แต่ยังมองไปถึงสภาพอาการที่ชาวบ้านต้องเจอ ส่วนที่เริ่มเข้าฤดูฝนขณะนี้มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มามอนิเตอร์เรื่องสารเคมีรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ ตนเข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่เจอปัญหามากที่สุด ซึ่งยืนยันได้ยากลำบากว่า น้ำจะปนเปื้อนสารเคมีจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่ อย่างที่ จ. ระยอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ได้ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.สร้างพนังกั้นน้ำ แต่ต้องดูว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ และยอมรับว่า มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้ายว่า ช่วงนี้ กมธ.การอุตสาหกรรม เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงไปชี้แจงทุกสัปดาห์ ซึ่งสัปดาห์นี้หาไม่ติดธุระอะไร ตนก็จะไปด้วย