POLITICS

‘อนุชา’ ชงโครงการเลี้ยงโค หนทางรอดเกษตรกรหมดหนี้ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

‘อนุชา’ ลงพื้นที่ภาคอีสาน ย้ำความสำเร็จกองทุนหมู่บ้านกระจายทุกพื้นที่ ชงโครงการเลี้ยงโค หนทางรอดเกษตรกรหมดหนี้ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

วันนี้ (6 ส.ค. 65) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด “โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน” กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ ขอนแก่น และมหาสารคาม ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดชัยภูมิ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดชัยภูมิ นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกฤษณ์พีรัช คมสุรศิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ คณะผู้บริหารในพื้นที่ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าร่วม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้กับประชาชน ผ่านการขับเคลื่อนของ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” โดยเฉพาะการสนับสนุนแหล่งทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตหลายๆ ด้าน กองทุนหมู่บ้านจึงเป็นส่วนที่สนับสนุนแหล่งทุนให้สมาชิกนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ต่อครอบครัวและชุมชน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบาย BCG เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“ส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ คือ เศรษฐกิจฐานราก ที่มีกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก รายได้ส่วนมากมาจากเงินจากน้ำ เงินจากดิน เราต้องทำให้ภาคเกษตรมีรายได้เพิ่ม หมดหนี้สิน หลุดพ้นจากความยากจนให้ได้ ปัจจุบันผมได้หารือร่วมกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จัดทำ “โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” โดยการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้นจากทางกองทุนฯ ซึ่งการเลี้ยงโคนั้นใช้เงินไม่มาก ให้วัวกินหญ้า สามารถหาได้ทั่วไป เมื่อนำโคไปขายจะเป็นรายได้ให้ครัวเรือนอีกทางหนึ่ง ที่ผ่านมาเราได้เริ่มนำร่องโครงการนี้ที่ จ.สุโขทัย เป็นระยะที่ 1 จำนวน 1,000 ครัวเรือน จากนั้นจะขยายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนของกองทุนฯ เป้าหมายคือ ประชาชนมีรายได้อย่างยั่งยืน หมดหนี้สินได้ในที่สุด” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนความคืบหน้าโครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานที่ประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการปั๊มน้ำมันชุมชนของกองทุนบ้านโคกสำราญ หมู่ที่ 1 ต.โคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ที่ดำเนินกิจการในรูปแบบการบริหารจัดการปั๊มน้ำมัน มีสมาชิกสนใจซื้อหุ้นโครงการปั๊มน้ำมัน จำนวน 173 หุ้น โดยมีการปันผลกำไรให้กับสมาชิก 30% โครงการกองทุนหมู่บ้านหนองแวงไร่ หมู่ 1 ตำบลในเมือง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ดำเนินกิจการในรูปแบบของสถาบันการเงินชุมชน มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 240 ราย คิดเป็น 12.28% ของจำนวนประชากรที่มีอยู่ หรือ 72.22% ของจำนวนครัวเรือน โดยดำเนินกิจกรรมเปิดให้มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น เป็นจำนวนเงิน 10 บาท โดยเงินกู้ของสมาชิกจะได้จากเงินค่าหุ้นที่สะสมคูณด้วย 3 แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ทำให้เกิดสมาชิกมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เป็นต้น

Related Posts

Send this to a friend