‘ราเมศ’ มั่นใจ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่สามารถฟื้นฟูพรรคได้
‘ราเมศ’ มั่นใจ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ฟื้นฟูพรรคได้ เมิน ‘ฟูอาดี้’ มอง ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์หากไม่เห็นด้วย แก้ 112 ย้ำ ประชาธิปัตย์ไม่มีฟรีโหวตเลือกนายกฯ ต้องโหวตตามมติพรรคเท่านั้น
วันนี้ (6 ก.ค. 66) นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ถึงความคืบหน้าและขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 นี้ โดยเปิดเผยว่าหลังนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กฎและข้อบังคับพรรคได้กำหนดให้ต้องมีการเลือกหัวหน้าพรรคภายใน 60 วัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และคณะกรรมการสรรหาผู้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้งหมด 41 คน แบ่งเป็นหัวหน้าพรรค 1 คน และคณะกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งต่างๆ ในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น
ส่วนเรื่องแคนดิเดตหัวหน้าพรรคนั้น นายราเมศ ระบุว่า ตอนนี้มีเพียงนายอลงกรณ์ พลบุตร เท่านั้นที่ได้มีการประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ ส่วนท่านอื่นยังไม่มีความเคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตามข้อบังคับพรรค กำหนดให้สมาชิกเสนอชื่อบุคคลใดเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ได้ ส่วนใครที่มีเจตจำนงที่จะเสนอชื่อตนเองในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในที่ประชุม ก็ย่อมทำได้แต่ต้องมีผู้รับรองเพื่อเข้าสู่กระบวนการในการเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งต้องไปดูว่าในช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ว่ามีใครจะถูกเสนอ หรือเสนอตนเองในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่
ส่วนกระแสข่าวเรื่องการเสนอชื่อบุคคลอื่นๆ อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสาววทันยา บุญนาค นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนางสาวจิตภัสร์ กฤดากร ในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายราเมศ ระบุว่า ตนเองทราบแล้ว และคิดว่าเป็นเพียงการรายงานข่าว และการวิเคราะห์กัน แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการนำเสนอชื่ออย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ต้องดูว่าจะมีสมาชิกพรรคท่านใดเสนอชื่อหรือไม่ในวันที่ 9 ที่จะถึงนี้
เมื่อถามว่าการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ในคราวนี้จะสามารถกู้วิกฤตศรัทธาของพรรคประชาธิปัตย์ภายหลังการเลือกตั้งกลับมาได้หรือไม่ นายราเมศระบุว่า ตนเองเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งไม่ใช่แค่กรรมการบริหารพรรคแต่เป็นเป้าหมายของตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและสมาชิกคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่เรียกว่า “ประชาธิปัตย์” ที่คาดหวังที่อยากให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะได้รับการเลือกตั้งมา จะมีคนรุ่นใหม่ และคนทุกรุ่น ที่จะเข้ามาร่วมฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์
โดยสิ่งที่ทุกคนพูดตรงกันคือความเป็นเอกภาพการบริหารงานในสถานะสถาบันการเมืองให้เข้ากับยุคเข้ากับสมัย รวมถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งตนเองยอมรับว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องมากำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูพรรคในวันข้างหน้า
สำหรับการที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างมากโดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ นายราเมศ ระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองที่ประกอบไปด้วยคนทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่ล้วนมีประสบการณ์แน่นอนว่าคนเหล่านี้จะสามารถเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับคนรุ่นหลังหลังในการสานต่ออุดมการณ์กับพรรคประชาธิปัตย์ได้
เมื่อถามถึงการที่นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ บุตรชาย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดพรรคประชาธิปัตย์ ถึงรับรองตำแหน่งรองประธานสภาให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยได้ แต่กลับเลือกที่จะไม่โหวตให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ปรับตัวจะไม่สามารถกลับมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากได้เหมือนในอดีตอีกแล้ว นายราเมศระบุว่า ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องว่าจะไม่สามารถกลับมาได้ด้วยประเด็นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ผ่านสถานการณ์การเลือกตั้งมาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะได้จำนวนน้อยหรือได้จำนวนมาก ผ่านกระบวนการการเป็นฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นหากจะบอกว่าประชาธิปัตย์จะกลับมาได้หรือกลับมาไม่ได้นั้นไม่ใช่คำตอบ
ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมถึงไม่โหวตให้กับพรรคก้าวไกล นายราเมศ ระบุว่าไม่ทราบ เพราะเป็นการลงคะแนนลับวันก่อนการเลือกประธานสภาได้มีการเรียกประชุม ส.ส. ตนเองในฐานะโฆษกพรรคไม่ได้เข้าร่วมแต่มีหลักของพรรคอยู่อย่างหนึ่งคือเมื่อมีการถกเถียงกันในที่ประชุมแล้วสิทธิของความเป็นสมาชิกสภาของพรรคประชาธิปัตย์อาจคิดไม่เหมือนกันทุกคนซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัวก็ได้
“ถ้ามีการถกเถียงกันในที่ประชุมแล้วสิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 25 ท่าน อาจคิดไม่เหมือนกันกับกรณีคนที่ให้สัมภาษณ์ก็ได้ว่าเขาจะไม่คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้หรืออาจจะไม่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอาจจะมีเหตุผลส่วนตัวก็ได้ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าหากถามเรื่องจุดยืนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ผมคิดว่าอันนี้ต้องคุยกันยาว เพราะว่ามีหลายประเด็นที่นอกเหนือจากนั้นมาก ไม่ใช่ว่าคนที่เสนอแก้มาตรา 112 รวมอย่างอื่นด้วยเช่นกรณีหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทหรือคนอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่า สิ่งที่เขาแสดงออกนั้นจะทำให้เกิดความผิดพลาดหรือทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาไม่ได้หรือไม่เพราะจุดยืนของพรรคยืนยันมาตลอดว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112 จะเอามาเป็นตัวชี้วัดในการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สามารถกลับมาได้นั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย” นายราเมศกล่าว
ส่วนการที่สังคมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเป็นไม้เบื่อไม้เมาทางการเมืองกันมาเป็นเวลานาน ทำไมคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ถึงยอมสนับสนุนพรรคเพื่อไทยได้ นายราเมศ ระบุว่าตำแหน่งประธานสภาหรือรองประธานสภา ไม่ใช่คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว จะเห็นว่าอาจารย์วันนอร์เป็นที่ยอมรับของทุกพรรคโดยไม่มีข้อโต้แย้งอะไรนั้นคือความเหมาะสมที่อาจารย์วันนอร์จะได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา แต่เมื่อหนึ่งในรองประธานเป็นตำแหน่งที่มีการแข่งขันกัน ก็เป็นเรื่องปกติที่สมาชิกจะมีสิทธิ์เลือก
ส่วนการจะบอกว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เป็นไม้เบื่อไม้เมากันนั้น ตนเองมองว่าทุกพรรคก็ตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนแต่เมื่อการดำเนินนโยบายมีความไม่ถูกต้องพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องตรวจสอบพรรคเพื่อไทยพอสมควร ซึ่งเป็นการพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ตนเองเคยให้สัมภาษณ์ว่าเพื่อไทย ไม่ใช่ทำผิดทุกอย่าง สิ่งไหนที่เขาทำดีเราก็บอกว่าดี สิ่งไหนที่ไม่ดีก็ต้องมีการโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผล อาทิ กรณี ที่นายสุรพล เกียรติไชยากร ถูกแจกใบส้ม ตนเองก็ไม่เห็นด้วยที่ กกต.ทำแบบนี้กับพรรคเพื่อไทย กรณีที่มีผู้บอกว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่สามารถเป็นคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณได้ เนื่องจากถูกศาลตัดสินให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็เช่นเดียวกัน ตนเองได้เคยยืนยันว่าคณะกรรมการวิสามัญสามารถแต่งตั้งคนนอกเข้ามาได้นี่คือหลักการที่ตนเองคิดว่าความแตกต่างความสวยงามทางการเมืองนั้นพูดคุยกันได้ด้วยเหตุด้วยผล
เมื่อถามถึงทิศทางเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเป็นอย่างไร หากได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว นายราเมศระบุว่าเมื่อมีหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้วทิศทางของการเลือกนายกรัฐมนตรีจะชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ซึ่งนอกจากการพูดคุยเรื่องการ จะโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วอาจจะมีการพูดคุยเรื่องว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกัน
เมื่อถามย้ำว่าการที่พรรคก้าวไกลมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งตรงข้ามกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถเป็นคำตอบได้เลยหรือไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี นายราเมศ ระบุว่า ในฐานะของพรรคการเมือง การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่สำคัญ หากยกมือสนับสนุนไปก่อน แล้วไปเป็นฝ่ายค้านทีหลังก็จะขัดแย้งกัน ซึ่งการจะยกมือให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ส.ส. และพรรคการเมืองนั้นจะต้องรับผิดชอบ จะทำให้เสียน้ำหนักในการตรวจสอบ เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลจะสามารถพูดได้ว่า “ก็ยกมือให้เขามาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง”
“สิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาเมื่อสมาชิกรัฐสภาหรือเปล่งวาจาออกไปแล้วว่าเขาเลือกใครมีความหมายคือเขาต้องรับผิดชอบในคำพูด” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
นอกจากนี้นายราเมศยังได้เน้นย้ำว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีการฟรีโหวตอย่างแน่นอนโดยจะเป็นไปตามมติพรรค