โฆษก ตร.แจง การแต่งตั้งนายสิบจบใหม่ลงหน่วย คฝ.เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนกำลังพล
โฆษก. ตร.แจง การแต่งตั้งนายสิบจบใหม่ลงหน่วยควบคุมฝูงชน เป็นการบริหารเพิ่มอัตรา แก้ไขปัญหาขาดแคลนกำลังพลของโรงพักเมื่อมีการชุมนุม และฝึกเตรียมความพร้อมงานตำรวจของ นสต.
วันนี้ (6 มิ.ย. 66 ) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีแนวทางจัดกำลังในตำแหน่งควบคุมฝูงชน ว่า ในห้วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีภารกิจในการดูแลและบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะในหลายพื้นที่ หลายการชุมนุมขนาดใหญ่ จะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจมีระยะเวลาการชุมนุมติดต่อกันยาวนาน อันอาจส่งผลกระทบให้ขาดแคลนกำลังพลในสถานีตำรวจต่างๆ การปฏิบัติหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเจ้าหน้าที่สายตรวจ สืบสวน จราจร หรืองานต่างๆ ในระดับสถานีตำรวจจะขาดกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่
ตร. โดย กองอัตรากำลังพล จึงได้วิเคราะห์ภารกิจและกำหนดนโยบายในการเพิ่มอัตรากำลังที่จะดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ โดยพิจารณาจากจำนวนสถิติพื้นที่ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นจำนวนมาก หรือปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมสูง ระยะเวลาหลายๆ วัน เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังในการดูแลการชุมนุมฯ เป็นการเฉพาะ ไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในระดับสถานีตำรวจ โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังจากสถานีตำรวจให้น้อยที่สุด
กำหนดเพิ่มอัตรากองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และในจังหวัดอื่นๆ โดยกำหนดอัตรา ประจำ กก.สส.บก.สส. ภ.1 , 2 , 7 และ อัตราประจำ กก.ปพ.บก.สส. เสมือนการดำรงตำแหน่งไว้ชั่วคราวเพื่อรอการลงประจำสถานีตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีภารกิจการชุมนุมฯ ตร. ได้กำหนดแนวทางให้ ผบช. หรือ ผบก. ต้นสังกัด สามารถบริหารจัดการให้กำลังดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถานีตำรวจ ได้ตามแต่ห้วงเวลา หรือให้สนับสนุนภารกิจการจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เช่น การรักษาความปลอดภัยในการจัดงาน ขนาดใหญ่หรือการจัดชุดออกตรวจตราเสริมในพื้นที่อาชญากรรมสูง เป็นต้น
ทั้งนี้ การนำนักเรียนนายสิบตำรวจ (นสต.) ที่จบการศึกษาใหม่ มาลงในตำแหน่งกองร้อย คฝ. จะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านงานป้องกันปราบปราม ยุทธวิธีตำรวจ การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษต่างๆ เตรียมความรู้ด้านข้อกฎหมาย การตรวจค้น การจับกุม การติดต่อสื่อสารและการทำงานเป็นทีมเพิ่มเติม และเพิ่มทักษะความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่งานป้องกันปราบปราม จราจร สืบสวน สอบสวน ในสถานีตำรวจและเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบตามวาระประจำปี ก็จะแต่งตั้งหมุนเวียนไปสถานีตำรวจเป็นวงรอบ สับเปลี่ยนกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจหรือสามารถพัฒนาเป็น ครูฝึกยุทธวิธีตำรวจต้นแบบให้กับสถานีตำรวจหรือ นสต. รุ่นอื่นๆ ต่อไป