POLITICS

กระทรวงทรัพย์ฯ เดินหน้าสู้คดีคลองด่าน ย้ำ ต้องปกป้องผลประโยชน์ชาติ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินค่าจ้างค่าเสียหายจำนวน 4,983,342,383 บาท และเงินเหรียญสหรัฐ จำนวน 31,035,780 เหรียญ พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ตามข้อเรียกร้อง ให้แก่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 6 คน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการอย่างเต็มความสามารถ ต่อสู้คดีรอบใหม่ให้ครบถ้วนเท่าที่กฎหมายเปิดช่องให้ต่อสู้ได้ ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เข้ามาดูแลให้คำปรึกษาในการต่อสู้คดี

นายอรรถพล ยังกล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมิได้หยิบยกเนื้อหาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8064/2560 (คดีฉ้อโกง) ว่า จำเลยที่ 2 – 19 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงให้โจทก์เข้าทำสัญญาโครงการฯ จึงมีผลผูกพันกับผู้ร้องและผู้คัดค้านในคดีปกครอง ซึ่งถึงที่สุดแล้วด้วย และสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3299/2564 ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่มีผู้ได้รับจากกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ซึ่ง คพ. จ่ายไปในงวดที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดิน ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อายัดไว้ก่อนหน้า

ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดฟังข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนในประเด็นสำคัญของคดีในกระบวนการพิจารณาพิพากษาทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม คพ. ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 ประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2564 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 8567/2564 ที่ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำ ที่ อ. 241 – 242/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 139 – 140/2565 หรือไม่ อย่างไร

ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษไม่อาจปฏิบัติตามหมายแจ้งคำบังคับของศาลปกครองกลางได้ และกรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคำร้องของดการบังคับคดีไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลปกครอง และผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

“ล่าสุด ศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไปจนกว่าคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะมีคำสั่งหรือความเห็น และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 กรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมธนารักษ์ และกรมป่าไม้ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจาก กรมที่ดิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ได้บุกรุกที่ดินของรัฐจนกว่าคดีจะถึงที่สุด พร้อมเรียกค่าเสียหาย” นายอรรถพล กล่าว

Related Posts

Send this to a friend