‘พิมพ์ภัทรา’ จัดการเด็ดขาดโรงงานลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
ย้ำส่งเสริมตั้งฐานผลิต EV ในไทย พร้อมดูแลแบตเตอรี่ที่มากับตัวรถ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ข้อกังวลของสมาชิก คือ การจัดการกากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม โดยมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะทุกคนมุ่งมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบ กรมโรงงานมีหน้าที่ออกใบอนุญาตในการตั้งโรงงาน ควบคุมการดูแลเรื่องกากอุตสาหกรรม สามารถจัดการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำอยู่ มีทั้งทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ
กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มความรับผิดชอบ โดยแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จากเดิมโรงงานใดต้องการปล่อยน้ำทิ้งหรือทิ้งกากอุตสาหกรรม มีหน้าที่แค่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลังจากนั้นจะใช้บริษัทจำกัด หรือรับผิดชอบก็ได้ แต่มีบางบริษัทประมูลในราคาที่ต่ำแล้วลักลอบนำไปทิ้งในที่ต่าง ๆ จึงมีการปรับปรุงประกาศของกระทรวง พ.ศ.2566 บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 เพิ่มความรับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ การกำหนดให้โรงงานที่ก่อมลพิษรับผิดชอบกากอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงให้บริษัทที่รับช่วงไปทิ้งอย่างไรก็ได้ แต่บริษัทต้องรับผิดชอบโดยนำไปทิ้งอย่างถูกต้อง มาตรการที่กำลังทำและรอบังคับใช้ คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงาน ด้วยการเพิ่มบทลงโทษจากเดิมมีโทษแค่ปรับจำคุก 1 ปี แต่เพิ่มโทษจำคุกเป็น 5 ปี
“การจัดการกากที่มีปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน ทุกครั้งเราต้องของบกลางจากทางรัฐบาล ดังนั้นจะหาวิธีแทนที่จะหางบกลางจากรัฐบาลจะต้องให้โรงงานช่วยกันรับผิดชอบ จึงมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม ถ้าสมาชิกที่ร้องเรียนว่า มีโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากแล้วเกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่ ถ้ามีเงินสิ่งแรกที่ทำได้คือ เรามีเงินเข้าไปเยียวยาในพื้นที่ ไม่ต้องไปขอการสนับสนุนจากงบกลาง สิ่งนี้คือเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ EV 3 มาถึง EV 3.5 ก่อนหน้านี้ได้ส่งเสริมการใช้ แต่ขณะนี้สิ่งที่กำลังทำคือ การส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่กำลังทำต่อ คือ ดูแลทั้งระบบ ไม่ใช่ดูแลแค่การลงทุนหรือสร้าง Local Content แต่ต้องดูแลเรื่องแบตเตอรี่ที่ติดมากับรถ รวมถึงแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทย
สำหรับเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในการยกระดับครอบคลุมถึงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เรื่องระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการแลนด์บริจด์ที่มาทำช่วยทั้งเกษตรกร นักลงทุน ครบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน ให้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำขึ้น คือ อุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่ทำแค่เรื่องของอาหาร แต่จะรวมถึงเครื่องสำอาง การท่องเที่ยว