POLITICS

‘วราวุธ’ บอก แก้รัฐธรรมนูญอย่ารีบลัดขั้นตอน หวั่น 2-3 ปี ที่ทำมาเป็นศูนย์

‘วราวุธ’ บอก แก้รัฐธรรมนูญอย่ารีบลัดขั้นตอน หวั่น 2-3 ปี ที่ทำมาเป็นศูนย์ ย้ำ ตั้ง สสร. คือหัวใจสำคัญที่ต้องให้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้

วันนี้ (5 พ.ย. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนาระบุการจัดทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 68 ว่า การดำเนินการการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล พรรครวมรัฐบาลทุกพรรคเห็นตรงกันว่าควรเร่งดำเนินการ ซึ่งนายนิกรเข้าร่วมการประชุมโดยตลอด ทำให้เห็นชัดเจนว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 68 จะไม่ทันพร้อมกับการทำประชามติ ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 70 อาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน

นายวราวุธ กล่าวว่า การทำงานเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญคือการเร่งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และอายุของ สสร.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระสภาชุดนี้ซึ่งจะหมดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2570 ขณะที่การตั้ง สสร.เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้ประกาศใช้สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร แต่ยังได้รับเครดิตการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ขออย่าเพิ่งหมดหวัง รัฐบาลจะเร่งทำงานเต็มที่เพื่อให้เกิด สสร. และจะมีกลไกรับฟังความคิดเห็นในทุกพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งใหม่อย่ากังวลว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรายังมีสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้

นายวรวุธ กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางมาก็ค่อนข้างชัดเจน การแก้ไขในมาตรา 256 จำเป็นต้องมีการทำประชามติ และเมื่อมี สสร.แล้ว จะต้องทำประชามติครั้งหนึ่ง ส่วนจะ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง ขอให้ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามจะดีกว่า เพราะหากมีการลัดขั้นตอนไป แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา จะกลับไปที่ศูนย์ แต่หากเพิ่มเวลาอีกนิด และทำประชามติตามขั้นตอน สุดท้ายจะคุ้มค่าที่ดำเนินการไป ย้ำว่าเครดิตการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนี้ แต่การให้เกิด สสร.คือหัวใจสำคัญ

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า กลไกการเลือกตั้งอยู่ภายใต้กฎหมายการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญแต่สามารถแก้กฎหมายเลือกตั้งได้ ยกเว้นเรื่องบัตรหนึ่งใบหรือสองใบ ซึ่งเป็นกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

Related Posts

Send this to a friend