POLITICS

‘ศักดิ์สยาม’ ติดตามการดำเนินงานการ เชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างสามประเทศเพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าโลก และเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคที่ยั่งยืน จึงได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการ ร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะรองประธานกรรมการพิจารณาการบูรณาการการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพระบบโลจิสติกส์ไทยด้วยการขนส่งผ่านระบบรางที่จะช่วยลดต้นทุนทางด้านเวลาและด้านโลจิสติกส์

โดยนายอนุทินฯ ได้มอบหมายนายศักดิ์สยามฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งนายศักดิ์สยามฯได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีประโยชน์ และผลักดันให้เกิดการบูรณาการการเชื่อมโยงระหว่างไทย ลาว และจีน อย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพียงพอ ที่จะรองรับการขนส่งข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างไทย – ลาว – จีน ด้วยรถไฟขนาดทาง 1 เมตร

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกที่จะช่วยขยายความครอบคลุม ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปให้ได้ประโยชน์ในทุกมิติ จึงจำเป็นต้องมีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการร่วมกันบูรณาการดังกล่าวของแต่ละหน่วยงานในฐานะทีม Thailand ต่อไป

ในการประชุมวันนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุขสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมด้วยกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมหารือเพื่อพิจารณาติดตามความก้าวหน้า สถานะการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการกำกับติดตามเพื่อขับเคลื่อนดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มอบหมายให้ดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

1.1 ให้กรมทางหลวงเร่งรัดการของบประมาณเพื่อศึกษาแนวทางการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ทั้งในรูปแบบสะพานรถไฟและรถยนต์

1.2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคายให้แล้วเสร็จตามแผนของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการเสนอโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และเร่งรัดการพัฒนาสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้าในระยะเร่งด่วน และการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) สถานีนาทา เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต พร้อมจัดทำ Action Plan เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความต้องการ และปริมาณความจุที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตามแผนงานระยะเร่งด่วน และระยะยาว รวมถึงพิจารณาอัตราค่าขนส่ง และต้นทุนด้านเวลา เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้ระบบรางเป็นทางเลือกหลักในการขนส่งระหว่างไทย ลาว และจีน

  1. ให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรเร่งรัดการจัดหา Mobile X-ray System เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบสินค้า ณ ด่านพรมแดนหนองคายในอนาคต และการดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคายสามารถปฏิบัติพิธีการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนได้ทุกมิติของการขนส่งสินค้า
  2. ให้กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาในฝั่งลาว เพื่อแลกเปลี่ยนและ
    บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ใช้ประกอบการวางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย และอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายไทย สามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาคได้เต็มประสิทธิภาพ และหยิบยกการหารือระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของลาวและจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลักดันการเชื่อมต่อรถไฟลาว – จีน กับระบบรางของไทย
  3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดการเจรจาร่วมกับฝ่ายจีน เพื่อเปิดด่านทางบกภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับใหม่ ให้ครบทั้ง 6 ด่านใหม่
  4. ให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์การค้าไทย – จีน ด้านจังหวัดหนองคาย และการใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว – จีน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย รวมถึงการเจรจาร่วมกับฝ่ายลาว ในการอำนวยความสะดวกสินค้าไทยที่ใช้บริการรถไฟลาว-จีน
  5. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการก่อสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจากลาวและจีน
  6. ให้กระทรวงสาธารณสุขอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสัมภาระที่ติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟ และตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้าให้เป็นไปตามระบียบกฏหมายต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดให้ Team Thailand ลงพื้นที่ และหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2565 เพื่อศึกษาสภาพและศักยภาพของพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางของโครงการเพื่อนำมาประเมินอุปทานด้านการคมนาคม และจัดทำแผนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยต่อไป

Related Posts

Send this to a friend