กกต.แจงรับสมัครปาร์ตี้ลิสต์ฉลุย 53 พรรค ยื่นแคนดิเดตนายกฯ แล้ว 20 คน
กกต.แจงภาพรวมรับสมัครปาร์ตี้ลิสต์ผ่านฉลุย 53 พรรค ยื่นแคนดิเดตนายกฯ แล้ว 20 คน ชี้ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบตามกฎหมายกำหนด
วันนี้ (4 เม.ย.66) นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยภายหลังการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และการรับแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี วันแรกว่า
การจับลำดับการยื่นบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง เมื่อตกลงลำดับกันไม่ได้ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเป็นผู้จับลำดับการยื่นบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จากนั้นจะให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าจับสลากหมายเลข บางพรรคมี ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถึง 100 คน เมื่อตรวจเอกสารเสร็จสิ้น ก็จะเป็นการจ่ายเงินค่าสมัครรายละ 10,000 บาท พรรคการเมืองทั้ง 49 พรรค มีคุณสมบัติครบถ้วน และได้หมายเลขในการหาเสียง ยอมรับว่าวันนี้มีปัญหาในเรื่องสถานที่ ที่ต้องรองรับพรรคการเมืองทั้ง 49 พรรค ส่วนช่วงบ่ายมีพรรคการเมืองมาสมัคร ทั้งหมด 4 พรรค ถอนไป 1 พรรค รวมทั้งสิ้น 53 พรรค ส่วนพรรคที่ยื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มี 16 พรรค จำนวน 20 คน กกต.จะทำเอกสารแจกให้สื่อมวลชนหลังจากนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงบรรทัดฐานของ กกต. ในการจับลำดับรายชื่อตั้งแต่เวลา 08.30 น.- 16.00 น. พรรคที่เอกสารไม่ครบจะสามารถกลับมายื่นให้ครบถ้วนได้หรือไม่ และจะทำให้ลำดับมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า หลักการแรกผู้สมัครต้องมีเอกสารครบถ้วน แต่วันนี้บางพรรคการเมืองมีเอกสารที่ขาดคือ ใช้สำเนาโดยไม่มีตัวจริง เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีปัญหาด้านกฎหมาย
ส่วนความเป็นไปได้ในอนาคต จะให้จับสลากก่อนแล้วค่อยตรวจเอกสารนั้น เป็นเรื่องอำนวยความสะดวกต่อพรรคการเมือง ซึ่งสามารถส่งข้อมูลมาให้ กกต. ตรวจสอบได้ 1-2 วันก่อนวันรับสมัคร
หากทุกพรรคทำเอกสารครบ ก็จะได้ลำดับหมายเลขตามที่จับสลากโดยอัตโนมัติ แต่หากพรรคที่อยู่ก่อนเอกสารไม่ครบถ้วน พรรคที่อยู่ลำดับต่อไปก็จะต้องเลื่อนขึ้นมา
ส่วนที่มีบางพรรคการทักท้วงว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตไม่มีโลโก้ นายแสวง ชี้แจงว่า กกต. มีการถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่งมีจำนวนบัตรเสียมากที่สุด โดยมาตรา 84 กำหนดให้บัตรเลือกตั้งมีบัตรสองแบบ แต่ละแบบต้องต่างกันอย่างเห็นได้อย่างชัด บัตรสองใบจะทำเหมือนกันไม่ได้ และสีต้องแตกต่างกัน บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตกำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมาย และหมายเลข ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องมีเครื่องหมาย สัญลักษณ์พรรค และชื่อของพรรคการเมือง
การอำนวยความสะดวกต่อประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการกาบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ กกต.จะพิมพ์บัตรเลือกตั้งอยู่ภายในหน้าเดียวกันทั้งสองแบบ โดยบัตรเลื่อกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตจะพิมพ์เท่ากับจำนวนผู้สมัครสูงสุด 16 หมายเลข ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะให้อยู่หน้าเดียวกัน ทั้งนี้ที่คูหาการเลือกตั้ง จะมีหมายเลขของผู้สมัครในแต่ละเขตแปะไว้ด้วย เพื่อทำให้มีบัตรเสียน้อยที่สุด