‘พิพัฒน์‘ ถกบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่หาทางออก หวั่นกองทุนประกันสังคมล้มละลาย

‘พิพัฒน์‘ หารือบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ครั้งแรกหลังเลือกตั้ง ยันไม่ถอยเดินหน้าชงร่าง พ.ร.บ.เข้า ครม. แจงสรรหาบอร์ดเฉพาะเหตุสุดวิสัยเท่านั้น ถกหาทางออกหวั่นกองทุนประกันสังคมล้มละลาย
วันนี้ (4 มี.ค. 67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยระบุว่า การประชุมนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้พบปะพูดคุย กับคณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคม 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และคณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน พร้อมกับมีข้อเสนอว่าการประชุม ควรมีการหารือกับรัฐมนตรีนอกรอบก่อนสัก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งไม่ถือว่าผิดข้อบังคับการประชุม เพราะต้องยอมรับว่าสุดท้ายการเมืองก็ต้องรับทราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะแกนนำรัฐบาล กำหนดนโยบายร่วมกันกับกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคมแต่ละชุด หากไม่มีการพูดคุย หรือสื่อสารผ่านตัวแทนอาจไม่ได้ข้อความที่ชัดเจนตรงไปตรงมา นอกจากนี้ยังฝากคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ให้หารือถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับเพิ่มเติมมากขึ้น
นายพิพัฒน์ ยังชี้แจงต่อกระแสข่าวยกเลิกคณะกรรมการประกันสังคม โดยร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. … เป็นร่างเดิมที่เคยเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาชุดก่อน แต่ยุบสภาฯ ก่อนจึงนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ชุดนี้ โดยได้ชี้แจงให้กับคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งให้เข้าใจ ตามมาตรา 8 ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่เสนอต่อ ครม. ได้กำหนดวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการฯ 2 วิธีคือ การเลือกตั้ง และการสรรหา ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ขาดเวิร์ดดิ้งที่ว่า “กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น ภัยสงคราม ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ จะต้องให้รัฐมนตรีในขณะนั้น สรรหาบอร์ดรักษาการ ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันจะต้องเป็นผู้ลงมติ และให้อำนาจรัฐมนตรีในการสรรหา”
“ผมไม่อยากถอนร่างมานับหนึ่งใหม่ เพราะจะมีขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์อย่างน้อย 1 ปี ถือว่าเสียเวลา เราสามารถตีตกในชั้นสภาผู้แทนราษฎรได้”
ขณะที่ข้อกังวลกองทุนประกันสังคมจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายในช่วง 30-40 ปีข้างหน้า จะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อขยายอายุกองทุน โดยเฉพาะ การขยายอัตราการตัดเก็บเงินเข้ากองทุนจากเพดาน 17,000 บาท เป็น 17,500 บาท หรือ 20,000 บาท
ส่วนดอกผลกองทุนประกันสังคม ปัจจุบันตามกฏหมาย 60% ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง เช่น ฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรรัฐบาล และอีก 40% ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยง แต่ต้องมีข้อจำกัดตามกฎเกณฑ์ของประกันสังคม ในที่ประชุมจึงเสนอสัดส่วนเป็น 75% ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง 25% ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยง โดยจะชงเข้า ครม.โดยเร็วที่สุดเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่สามารถรอได้
ขณะนี้กองทุนประกันสังคมอยู่ในช่วงไต่ระดับไม่นานคงสู่จุดสูงสุด อนาคตอาจเดินไปในแนวราบ หรือลักษณะวีเชฟแบบคว่ำหัวดิ่งลง จึงมีเวลาในการเตรียมรับ โดยแต่ละปีสำนักงานประกันสังคมสามารถเก็บเงินสมทบได้ 2 แสนล้านบาท และใช้จ่ายต่อปีอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท