กรมชลฯ ชี้ อ่างเก็บน้ำ รองรับได้อีก 28,322 ล้าน ลบ.ม.
ยัน บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ชี้แจงถึงกรณีที่มีข้อความบนสื่อออนไลน์ว่า “ประเทศไทยมีเขื่อน 4,758 เขื่อน ทำไมน้ำยังท่วม น้ำยังขาดแคลน? จะต้องสร้างอีกกี่เขื่อนถึงจะพอ?” โดยระบุว่า ปัจจุบัน (2 ก.ย. 67) ปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 435 แห่ง รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 48,015 ล้าน ลบ.ม. รองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 28,322 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 13,341 ล้าน ลบ.ม. รองรับน้ำได้อีกกว่า 10,530 ล้าน ลบ.ม.
ดังนั้น หากฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก จะเป็นผลดีที่จะมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อย ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อยลง ย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงภัยแล้ง
ที่ผ่านมากรมชลประทานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับปริมาณน้ำในลำน้ำมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด