อ.วีระ ห่วงรัฐบาลติดกับดักทำงบขาดดุล เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถานะการเงินการคลัง นำประเทศสู่วิกฤต
วันนี้ (3 ก.ย.67) นายวีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 อภิปรายขอปรับลดงบประมาณในมาตรา 4 เป็นจำนวน 187,700 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 3,752,700 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินงบประมาณเหลือ 3,565,000 ล้านบาท
นายวีระ ระบุว่าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถแยกรายการดูความเหมาะสมได้เป็น 2 แบบ แบบแรกเป็นการดูงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ว่ามีแหล่งที่มาอย่างไร แบบที่ 2 ดูการจัดสรรงบประมาณ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ตั้งงบไว้ 3,752,700 ล้านบาท โดยมีที่มา 2 ทาง ประกอบด้วน 1.รายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2,887,000 ล้านบาท 2.กู้เงินเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ 865,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล
“พูดแบบชาวบ้านให้เข้าใจง่ายคือ เงินกูไม่พอ เลยต้องใช้เงินกู้มาเติม” นายวีระ กล่าว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจัดงบประมาณขาดดุลและกู้เงินชดเชยการขาดดุลอย่างต่อเนื่องจนทำให้ภาระหนี้สินที่อยู่ในรูปแบบของหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นการทำงบประมาณแบบขาดดุลเรื้อรัง สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่ห่วงใยในการเงินการคลังของประเทศเป็นอันมาก หนึ่งในนั้นก็คือตนเอง การขาดดุลงบประมาณเรื้อรังเช่นนี้ ทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวดเร็วด้วย
ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย.67 พบว่ารัฐบาลมียอดหนี้สาธารณะคงค้าง รวมทั้งสิ้น 11.54 ล้านล้านบาท หากรวมการกู้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 67 และงบประมาณปี 68 อีก 865,000 ล้านบาท เท่ากับยอดคงค้างหนี้สาธารณะจะทะลุ 12-13 ล้านบาภายในสิ้นปี 68
สำหรับคำถามที่ว่ายอดหนี้สาธารณะมากหรือน้อยเกินไปนั้น ไม่สำคัญเท่ากับอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลยังจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเรื้อรังไปพร้อมกับการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จะทำให้เรามีปัญหาการเงินการคลังภาครัฐอย่างหนักหนาสาหัสอย่างแน่นอน
นายวีระ แจกแจงรายจ่ายงบประมาณที่ได้จัดสรรในปี 68 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2,704,574 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 982,024 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินต้นอีก 150,100 ล้านบาท สิ่งที่เห็นชัดเจนต่อเนื่องในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีคือ รายจ่ายประจำมิได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้นตลอด ทำให้เรามาถึงจุดอันตราย มีรายจ่ายที่ยากจะตัดทอนหมายความว่าต่อไปจะมีรายจ่ายประเภทหนึ่งที่ตัดทอนไม่ได้ รวมกันสูงถึงร้อยละ 67 ในงบประมาณรายจ่ายปี 66 มั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 67 และ 68
สรุปว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลที่จะดำเนินการผ่านงบประมาณรายจ่ายล้วนเป็นเงินกู้ที่มีภาระ จะต้องหาเงินต้นและดอกเบี้ยมาชำระคืน ในอนาคตหนี้รัฐบาลเป็นเช่นไรหนี้ของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤติการคลังในอนาคต แม้การทำงบประมาณ ปี 68 จะจัดทำขึ้นตามกฏหมายทุกฉบับ แต่การทำถูกกฎหมายหรือการทำตามกฏหมายอย่างครบถ้วนที่เราชอบพูดกันว่า “อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” มิได้หมายความว่าจะไม่เป็นปัญหา ตรงกันข้ามการทำตามกฏหมายอย่างครบถ้วนก็สามารถนำไปสู่หายนะได้เช่นกัน หากไม่กระทำอย่างระมัดระวังและรอบคอบ
นายวีระ กล่าวต่อว่าเท่าที่ตนเองติดตามการทำงบประมาณในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี อยากจะบอกว่าบัดนี้ประเทศเราได้ติดกับดักการจัดทำงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นทุกปี หากดูการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับจะเข้าใจข้อสังเกตของตนเอง
สำหรับงบประมาณรายจ่าย ปี 68 มีการตั้งรายจ่าย เพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 410,253 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นการชำระเงินต้นเพียงแค่ 150,000 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายไม่น้อย 260,000 ล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่จะต้องชำระคืนให้สถาบันการเงินของรัฐซึ่งเป็นรายการนอกงบประมาณมียอดคงค้างอยู่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท และขณะนี้ยังไม่ทราบยอดคงค้างที่แท้จริง เพราะรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะชนทราบ
“นี่คือรายการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถานะทางการเงินการคลังของรัฐในปัจจุบันและในอนาคตอย่างแท้จริง หากไม่ยับยั้งหรือบริหารจัดการแก้ปัญหา เสียตั้งแต่ต้นมือ สิ่งที่เป็นภาระทางการคลังจะพัฒนาเป็นความเสี่ยงทางการคลัง สุดท้ายจะนำไปสู่วิกฤตการคลัง”
นายวีระ เสนอว่านับจากนี้ตั้งแต่งบประมาณ ปี 69 เราต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบไม่เพิ่มวงเงินรายจ่าย เป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่เรียกว่า ”Zero Growth Budget“ ต้องทำอย่างน้อย 3 ปีนับจากนี้ จนกว่าภาระและความเสี่ยงทางการคลังจะลดลงเข้าสู่ระดับที่บริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม
รวมทั้งต้องหยุดสร้างภาระทางการคลังในอนาคต ด้วยการใช้มาตรการถึงการคลัง โดยให้สถาบันการเงินของรัฐออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อนแล้วตั้งงบประมาณใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย รวมชดเชยรายได้ในภายหลังตามอำนาจที่ให้ไว้ในมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง จัดสรรชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่าย จนกว่าระดับการใช้คืนเงินต้น ดอกเบี้ยค้างชำระ และการชดเชยรายได้ปรับลดลงมาอย่างมีนัยยะสำคัญ หากไม่ทำเช่นนี้ ตนเองหวั่นใจว่าเราอาจจะต้องประสบวิกฤติการคลังในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 68 มีการงดจ่ายเงินที่รัฐต้องชดเชยตามมาตรา 28 ให้กับสถาบันการเงินของรัฐ 5 แห่ง จำนวน 35,000 ล้านบาทถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ถูกต้อง