POLITICS

’ชัยธวัช‘ ย้ำ ไม่ใช่แค่การวิจารณ์รัฐบาล แต่เป็นเวทีเสนอแนะ เพื่อแก้ไข

วันนี้ (3 ส.ค. 67) นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เป็นประธานพิธีขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษการจัดโครงการ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ปลดล็อควิกฤติงบประมาณของประเทศ”

นายชัยธวัช ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มพิธีว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นวาระพิเศษ ที่ไม่ได้จัดไปต่างจังหวัด แต่เชิญประชาชนมาใช้พื้นที่ของรัฐสภา เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และใกล้ชิดระหว่างสภากับประชาชนมากขึ้น โดยฝ่ายค้านได้เลือกจัดเวทีทั้งวันในหัวข้อปลดล็อควิกฤติงบประมาณของประเทศ

ซึ่งในช่วงเช้าวันนี้ เป็นเวทีใหญ่ที่มีการเสวนาเพื่อให้ตัวแทนของฝ่ายค้าน และสื่อสารกับประชาชน ว่าการจัดงบประมาณ ปี 2568 มีความค้บหน้า และข้อสังเกตอย่างไร ในฐานะฝ่ายค้านที่ต้องถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลง ส่วนในช่วงบ่าย เป็นห้องย่อยที่จะไม่ได้พูดในการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณปัจจุบันเพียงอยางเดียว แต่เป็นเวทีนำเสนอ และเชิญชวนให้มีการมองไปยังการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนงบประมาณเชิงระบบ งบกระตุ้นเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมใหม่ การจัดงบพัฒนาแรงงานให้ตอบโจทย์มากกว่าปัจจุบัน

นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า จัดมาแล้ว 4 ภาค และก่อให้เกิดประโยชน์ นอกจากรายงานการทำงานให้ประชาชนแล้ว ซึ่งก็ได้ข้อเสนอแนะกลับมาติดตามต่อ ซึ่งในอนาคตการจัดงานยังไม่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่ก็มีแผนว่าจะจัดเวทีใหญ่ ในโอกาสครบรอบ 20 การกระจายอำนาจในประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในช่วงของการทำแผนกระจายอำนาจแบบใหม่ พร้อมกล่าวต่อว่าตนพยายามจะจัดทุกเดือน ไม่ใช่แค่ปิดสมัยประชุมเท่านั้น เพราะอยากให้การทำงานของผู้แทนราษฎรใกล้ชิดกับประชาชน

ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าการจัดงานในครั้งหน้าผู้นำฝ่ายค้านยังเป็นคนเดิมใช่หรือไม่ นายชัยธวัช ตอบเพียงว่า ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น

จากนั้น นายชัยธวัช ขึ้นกล่าวเปิดงานว่า เราอยากเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชน คิดถึงการปลดล็อคระบบงบประมาณของประเทศ ยกเครื่องปฏิรูปครั้งใหญ่ให้เร็วที่สุดในอนาคต โดยเราจะใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอ การปฏิรูประบบงบประมาณ และการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ตอบโจทย์ในแต่ละเรื่อง

นายชัยธวัช กล่าวว่า การดำเนินนโยบายสาธารณะ ต้องทำอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. คน คือบุคคล และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบาย 2. กฎ คือระเบียบ ซึ่งเป็นบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ทั้งการออก และแก้กฏหมาย แม้ว่างบประมาณจะนำเสนอจากฝ่ายบริหาร แต่ผู้อนุมัติคือรัฐสภา ในฐานะสถาบันการเมืองที่ประชาชนเลือกมา 3. งบ ซึ่งก็คืองบประมาณ

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า เวลาพูดถึงงบประมาณของรัฐบาล หลายคนนึกถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของเครื่องจักรในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคน คิดถึงการจัดสรรงบประมาณในอย่างน้อย 5 มิติ ได้แก่

1.มิติความคุ้มค่า เพราะงบประมาณมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น การใช้งบต้องตอบโจทย์ความคุ้มค่า ซึ่งที่ผ่านมา เราเห็นว่ามีการจัดสรรที่ไม่คุ้มค่า เพราะมีการตั้งธง และประมาณการต้นทุนโครงต่ำกว่าความจริง ซึ่งเห็นได้ในการจัดทําโครงสร้างพื้นฐานหลายเรื่อง ที่ไม่คุ้มค่าจนถูกปล่อยร้าง ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ตามที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น

2.มิติที่ทำให้ประเทศพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ไม่ใช่การจัดสรรงบแบบเดิมๆ ตามความเคยชิน ปีที่แล้วเสนอยังไง ปีนี้ก็เสนออย่างนั้น โดยไม่มียุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น ระบบงบประมาณที่ดี ควรตอบโจทย์ความท้าทายในแต่ละด้าน ทั้งการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรม การแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5 หรือความผันผวนของภูมิอากาศ

3.มิติเสริมพลังให้กับสังคม เพราะในสภาพที่มีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในแง่โอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องเสริมพลังให้กับภาคส่วน ที่ยังขาดโอกาสยกระดับตัวเอง ซึ่งต้องทำให้เป็นระบบต่อเนื่อง ไม่คิดแทนประชาชนทุกเรื่อง เพราะสิ่งที่เราเห็นในงบปี 67 และปี 68 ไม่มีความเป็นระบบแต่อย่างใด

4.มิติเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการบริหารให้เรามีพื้นที่การคลังเพียงพอ ที่จะรองรับสถานการณ์ที่โลกปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง เพราะเราไม่ทราบว่าจะเกิดวิกฤติอะไรในอนาคตแบบฉับพลัน ดังนั้น เราต้องมีสมดุลและความพร้อมในการเผชิญความไม่แน่นอนของโลก

5.มิติสร้างความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบงบประมาณส่วนหนึ่ง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง ทั้งระหว่างรัฐมนตรีกับ ส.ส. หรือฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ เพื่อสร้างฐานการเมืองในพื้นที่ สร้างระบบที่เราเรียกว่าบ้านใหญ่

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า เวทีวันนี้ไม่ใช่การวิจารณ์รัฐบาล แต่ชวนคิดถึงอนาคต ยกเครื่องว่าเราจำเป็นต้องยกเครื่องระบบงบประมาณ ด้วยความเชื่อว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการทำหน้าที่ของ ส.ส. รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยของเรา ตอบโจทย์สังคมและประชาชนมากขึ้น

Related Posts

Send this to a friend