POLITICS

กมธ.ความมั่นคงฯ จี้ กอ.รมน.-กองทัพ-ตำรวจ แจงปฏิบัติการ IO หลังไม่เข้าร่วมชี้แจงที่ประชุมวันนี้

วันนี้ (3 เม.ย. 68) นายปิยรัฐ จงเทพ โฆษกคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย นายรอมฎอน ปันจอร์ กมธ. และ นายชยพล สท้อนดี สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวการพิจารณาศึกษาปัญหาปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเรื่องดังกล่าวต่อเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายชยพล สท้อนดี สส.พรรคประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ กมธ.จึงนำเรื่องนี้เข้ามาศึกษาและหาข้อเท็จจริง โดยส่งหนังสือเชิญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมกับคณะ กมธ. อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าว เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่มาเข้าร่วมการประชุมในวันนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้ไม่เห็นความสำคัญของสภาผู้แทนราษฎร และคณะ กมธ. หรืออาจกำลังปกปิดเรื่องบางอย่างหรือไม่

คณะ กมธ. ได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการพิจารณาในลำดับถัดไป เนื่องจากการประชุมครั้ง นี้ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมด และยืนยันว่าการเป็นการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งมีอำนาจเรียกหน่วยงานมาชี้แจงตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 หากหน่วยงานดังกล่าวไม่มาชี้แจงต่อคณะ กมธ.จะได้รับการลงโทษทางวินัย ซึ่งทางกมธ.เองไม่ต้องการใช้กฎหมายดังกล่าวมาบังคับหน่วยงานต่าง ๆ แต่หากมีความจำเป็นก็อาจจะต้องใช้ หลังมีการประกาศ พ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. …. ฉบับใหม่ ในราชกิจจานุเบกษา โดยหากการประชุมครั้งถัดไปในวันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2568 หน่วยงานดังกล่าวยังไม่มาให้ข้อมูลก็อาจจะต้องขอมติที่ประชุมใช้อำนาจตามกฎหมาย

นายชยพล สท้อนดี กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่วันนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งตนได้กล่าวถึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มาให้ข้อมูลกับคณะ กมธ. โดยสถานการณ์ล่าสุด รมว.กลาโหมก็ยังไม่ได้ชี้แจงข้อกล่าวหา และนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้สื่อสารเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจมากที่ในปัจจุบันยังไม่มีการชี้แจงและสื่อสารกับประชาชน อย่างอย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่างานทางด้านข่าวกรองเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การตั้งเป้าหมายที่ประชาชนหรือผู้แทนของประชาชนเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ รวมทั้งยังเป็นภัยต่อระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบออกมาชี้แจง และปรับปรุงแก้ไขอำนาจดังกล่าวต่อไป

นายรอมฎอน ปันจอร์ กล่าวว่า นอกจากหน่วยงานปฏิบัติ ยังมีหน่วยงานด้านนโยบายที่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ. กอ.รมน. และยังเป็นบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของปฏิบัติการดังกล่าว จึงควรมีส่วนที่จะต้องรับรู้และมาชี้แจงต่อคณะ กมธ. รวมทั้ง รองนายกฯ และรมว.กลาโหม คณะ กมธ.จะทำหนังสือเชิญมาชี้แจงด้วยเช่นกัน ซึ่งให้โอกาสเตรียมตัวประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ คณะ กมธ.ต้องการฟังคำชี้แจงที่ตรงไปตรงมา และฝากทุกท่านให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat