POLITICS

‘ทวี’ โต้ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ ออกในยุครัฐบาลก่อน ’จุรินทร์‘ สวน ‘ตรรกะวิบัติ’

วันนี้ (3 เม.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบ บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ว่า จากที่อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้พูดถึงกระบวนการยุติธรรม โยงไปถึงกรมราชทัณฑ์ ตนเองอยากให้สมาชิกได้รับทราบว่าพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ปี 2560 เป็นพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ที่รัฐบาล และสภาชุดนี้ไม่ได้เป็นผู้ออก เพราะออกในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรมราชทัณฑ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจอะไรเลยใน พ.ร.บ. นี้ เนื่องจากเขียนเรื่องการบริหารโทษไว้ทุกขั้นตอน แทบไม่มีการให้ใช้ดุลพินิจแม้แต่เล็กน้อย

”ท่านจุรินทร์คงจะหมายถึงท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งท่านอดีตนายกฯ ทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยก่อนรัฐบาลนี้คือรัฐบาลของท่านจุรินทร์ เป็นผู้บริหารประเทศ ร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลของท่านในขณะนั้น ในวันเดียวก็อนุญาตให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และอยู่ในชั้น 14 ถ้าการกระทำในยุคของท่าน ท่านใช้คำพูดอีกแบบหนึ่ง แต่พอมาเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาในยุคปัจจุบัน ท่านกล่าวว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม“ พันตำรวจเอกทวี กล่าว

พันตำรวจเอกทวี กล่าวต่อว่า ในวันนี้เมื่อเรายอมรับหลักนิติธรรม หลักที่กฏหมายอยู่เหนือบุคคล ได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังได้เขียนไว้ในมาตรา 53 ว่ารัฐต้องให้มีการปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในอดีตที่ผ่านมาหลักนิติธรรมไม่เคยมีนิยามไว้ในพจนานุกรม แต่หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ได้มีนิยามไว้ในพจนานุกรม คือหลักที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน คือกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งกฎกระทรวงที่ออกเมื่อปี 2563 – 2564 ท่านนั่งอยู่ใน ครม. อยู่ในสมัยของท่าน การบอกว่าติดคุกทิพย์นั้น ตนเองถือว่าเลวร้ายมากเมื่อเขียนไว้ใน พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ มาตรา 55 ว่าเมื่อป่วย ก็ต้องส่งรักษา และไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือกรมราชธรรมมีดุลย์พินิจ ให้ยึดความเห็นของแพทย์ และเมื่อแพทย์ส่งไปรักษาแล้วให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่รักษา ใช้สถานที่จำคุกอื่น ก็คือโรงพยาบาล โดยอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ไปอยู่ในกฎหมาย กฎกระทรวงที่นายจุรินทร์ เป็นผู้มีความเห็นชอบ เพราะตนเองไปดูมติ ครม. ท่านไม่ได้มีการเห็นค้านเลย

พันตำรวจเอกทวี กล่าวต่อว่า วันนี้ท่านทำให้สังคมสับสนว่าคนไปอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ที่เรือนจำ ในเมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะนั้น ในมาตรา 55 วรรคท้าย แล้ว 5 หมื่นกว่าคน ที่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ เราก็ไม่ได้หักวันที่ต้องอยู่ในเรือนจำ คิดว่าท่านไม่ใช่ไม่ชอบกฎหมาย แต่อาจมีความรู้สึก ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำของฝ่ายท่าน ท่านอาจจะคิดอีกแบบหรือไม่ ตนเองขอสอบถาม และไม่อยากให้สังคมมีความสับสน

ส่วนเรื่องกฎกระทรวงหรือระเบียบเราก็ออกตามมาตรา 33 มาตรา 34 ไม่ว่าจะเป็นการพักโทษ หรืออยู่โรงพยาบาลก็ยังถูกลงโทษอยู่กรมราชทัณฑ์ ไม่ใช่ผู้กำหนดกฎหมายกำหนด และเขียนให้เป็นขั้นตอน ดังนั้น การระบุว่าการพักโทษตามระเบียบที่ออกก็ต้องปฏิบัติตามนั้น อยากให้ฟังความให้รอบด้าน และไม่อยากให้ใช้อคติในการอภิปราย

จากนั้นนายจุรินทร์ ลุกขึ้นโต้กลับ ว่า จากที่ตนเองฟังการชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรมมาหลายเวทีแล้ว ส่วนใหญ่บอกว่ากฎหมายเกิดมาจากสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่ตรรกะก็คือ ถ้ากฎหมายเกิดในสมัยรัฐบาลก่อน แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้ จะทำถูกผิดอย่างไรก็ได้หรือ ถือเป็นตรรกะวิบัติ สิ่งที่ตัวเองอภิปราย เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลนี้เต็มร้อย คือเรื่องระเบียบที่จะกำหนดคุณสมบัติให้คนไปติดคุกที่บ้าน จะรวมคดีคอรัปชั่นหรือไม่ อยู่ที่ท่านแล้ว จะไปโทษคนอื่นไม่ได้ หากรวมคดีนี้ ก็จะเป็นการส่งเสริมคอรัปชั่นไปด้วย โดยฝีมือรัฐบาลนี้โดยตรง รวมทั้งถามถึงการลงโทษกรรมที่ยังไม่เกิดซึ่งจะเกิดหรือไม่ ก็อยู่ที่รัฐบาลนี้ จึงเกิดคำถามว่าหากเกิดจากรวมทั้งคดีทุจริตและม. 157 ด้วยหรือไม่

Related Posts

Send this to a friend