DSI จ่อชงบอร์ด กคพ. รับคดีฮั้วเลือก สว. หลังพบหลักฐานมัดแน่น
คณะอนุกรรมการฯ DSI ประชุมหารือแนวทางรับคดีฮั้วเลือก สว. พร้อมชงบอร์ด กคพ. พิจารณา หลังพบหลักฐานเชื่อได้ว่า มีการกระทำความผิดทางอาญาจริง ยัน เอกสารหลุด 1,200 รายชื่อ ไม่ได้มาจากดีเอสไอ
วันนี้ (3 มี.ค. 68) เวลา 13:30 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ นำโดย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานอนุกรรมการ ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ผู้แทน 4 หน่วย ประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เกี่ยวกับคดีฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 67 เพื่อพิจารณากรอบอำนาจ และฐานความผิดคดีอาญาในข้อหาใดบ้าง ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้
ร.ต.อ.สุรวุฒิ เปิดเผยหลังประชุมว่า วันนี้มีการพูดคุยแนวทางในการพิจารณา คือ เรื่องที่เสนอนั้น เป็นการกระทำความผิดอาญาหรือไม่ และในฐานความผิดใด ซึ่งตามเดิมจะเป็นความผิดฐานอั้งยี่, ฟอกเงิน และ ม.116 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งที่ประชุมพบความผิดชัดเจน ส่วนความผิดในข้อหา การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือสว. จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดำเนินการ
ส่วนในที่ประชุม กคพ. จะมีความเห็นอย่างไรนั้น ร.ต.อ.สรวุฒิ กล่าวว่า อนุกรรมการฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ และจะต้องลงมติ 2 ใน 3 โดยอาจมีความอาจมีความเห็นแย้งกับคณะอนุกรรมการฯ ได้
สำหรับจะมีการจะพิจารณากรณีรายชื่อ 1,200 รายชื่อ ที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.สรวุฒิ ยืนยันว่า เอกสารหลักฐานดังกล่าวไม่ได้ถูกเปิดเผยจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะมีต้นทางมาจากที่ใดไม่สามารถตอบได้ ส่วนจะมีการนำรายชื่อดังกล่าวมาตอบตรวจสอบไม่ ก็คงต้องรอให้มีการรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษก่อน จึงจะอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ ได้มีการนำรายละเอียดของพยานหลักฐานทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มาพิจารณา ซึ่งในสำนวนการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะนำมาพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายความผิดใดบ้าง
ร.ต.อ.สรวุฒิ อธิบายอีกว่า แนวทางการทำงานหลังมีการพิจารณาของที่ประชุม กคพ. หากมีการรับเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด จะมีการตั้งคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อทำคดีนี้ แต่หากไม่รับเป็นคดีพิเศษ ก็จะมีการส่งสำนวนต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นายนาเคนทร์ ทองไพวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า การที่พิสูจน์พยานหลักฐานทั้งหมด มาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหลัก ทำให้ที่ประชุมเชื่อได้ว่า น่าจะมีความผิดทางอาญาเกิดขึ้นตามความผิดฐาน พ.ร.ป. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งส่วนนี้จะมีการนำเสนอที่ประชุม กคพ.พิจารณาอีกครั้ง