อดีตประธานศาลฎีกา เตือนหากสถาบันยุติธรรมไม่น่าเชื่อถือ บ้านเมืองอยู่ไม่ได้
‘วีระพล’ มองคนไทยหาช่องร้ององค์กรอิสระเก่ง จนสอบกันไม่สิ้นสุด เตือนหากสถาบันยุติธรรมไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนจะเสียประโยชน์ บ้านเมืองอยู่ไม่ได้
วันนี้ (2 พ.ย. 66) นายวีระพล ตั้งสุวรรณ นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตประธานศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายวีระพล เท้าความถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ว่า นอกจากจะมีการก่อกำเนิดศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีองค์กรอิสระ 6 องค์กรเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญด้วย องค์กรเหล่านั้นก็มีอำนาจกึ่งตุลาการ ซึ่งลักษณะนิสัยของคนไทยชอบกระบวนการร้องทุกข์ไปเรื่อย จนมีการตรวจสอบไปไม่มีที่สิ้นสุด การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการใช้สิทธิไปที่ศาลหรือองค์กรอิสระนั้น คนไทยเก่ง หาช่องไปได้หมด
นายวีระพล กล่าวว่า เมื่อมีการสร้างองค์กรและบุคลากรเข้าไปใส่ในองค์กรแล้วนั้น แต่กลับเลิกไม่ได้ เพราะถ้าเลิกแล้วก็มีปัญหา ทำให้องค์กรที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ยังคงอยู่ และต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยมีผู้มีความสามารถช่วยร่าง ซึ่งกำหนดให้ศาลทั้งหลายทำการตามปกติ ทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ก็จะมีปัญหาไปหมด ยังไม่นับประเด็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านั้นด้วย ดังนั้น จึงต้องขบคิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ นายวีระพล ยังเปิดเผยอีกปัญหาในกระบวนการยุติธรรมว่า มีการช็อปปิ้งศาลเกิดขึ้น เพราะมองว่าศาลนี้ให้ประโยชน์หรือให้โอกาสได้มากกว่า ทั้งยังมีการใช้ศาลในการประวิงคดีว่า คดีควรจะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งเกิดจากวันพิจารณาศาลปกครองและศาลยุติธรรมไม่เหมือนกัน
“ถ้าศาลหรือองค์กรอิสระกระทำโดยมิชอบหรือไม่มีอำนาจตามกฎหมาย หรืออ้างอำนาจและมีคำวินิจฉัยอย่างคลุมเครือ ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจะทำอย่างไร”
นายวีระพล กล่าวย้ำว่า ต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้เป็นที่น่าเชื่อถือ มิฉะนั้นบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ ส่วนตัวถือว่า ศาลยังเป็นที่พึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม เพียงแต่จะมีบางตัวอย่างที่แปลก ๆ แต่ไม่รู้ว่าจะวิจารณ์อย่างไร เพราะจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล
สำหรับข้อหาละเมิดอำนาจศาลนั้น นายวีระพล มองว่า เป็นเพียงเครื่องมือควบคุมในห้องพิจารณาคดี ศาลรัฐธรรมนูญเองเป็นศาลการเมือง ไม่ได้มีอำนาจใหญ่กว่าศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง จึงไม่เห็นด้วยที่มีอำนาจลงโทษผู้ละเมิดอำนาจศาลฝ่ายหนึ่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญเท่านั้น
“กระบวนการยุติธรรมในยุคนี้จะย้อนกลับไปเหมือนยุค พ.ศ. 2300 หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ความน่าเชื่อถือในการลงทุน ผมว่าสำคัญ เราคงไม่ถูกการล่าอาณานิคม แต่จะเป็นการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ถ้าสถาบันยุติธรรมไม่น่าเชื่อถือ คนในประเทศนี้เองหรือระหว่างประเทศก็เสียประโยชน์”