‘ดร.ธนกร’ แจงผลการดำเนินงาน กองทุนสื่อฯ ปี 66 ต่อวุฒิสภา
‘ดร.ธนกร’ แจงผลการดำเนินงาน กองทุนสื่อฯ ปี 66 ต่อวุฒิสภา เผย ขยายช่องทางให้ผู้ผลิตเข้าถึงทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ด้าน เทวฤทธิ์ แนะ บรรจุหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อให้อยู่ในแบบเรียน ติดอาวุธทางปัญญาให้เยาวชน
วันนี้ (2 ก.ย. 67) การประชุมวุฒิสภา พิจารณาระเบียบวาระเรื่องที่เสนอใหม่ ซึ่งเป็นการรายงานประจำปี 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 โดยมี นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นผู้ชี้แจง
นายธนกร กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตั้งโดย พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 เริ่มจัดสรรทุนมาตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยได้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งอยู่ใน กสทช. โดยได้รับปีละ 500 ล้านบาท
สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นวงเงิน 300 ล้านบาท นำมาจัดสรรให้กับผู้รับทุนประจำปี ซึ่งจะเปิดให้มีการขอรับทุน โดยยื่นเสนอโครงการปีละครั้ง ส่วนอีก 200 ล้านบาท เป็นงบในการบริหารจัดการ และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของสำนักงาน
การดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 5 ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุน นำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ 5 ปี การพัฒนากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยระยะที่ 1 ดำเนินการตั้งแต่ 2561-2565 ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 โดยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี จะสิ้นสุดในปี 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน กองทุนนำมากำหนดกลยุทธ์ 6 สร้าง ดังนี้
1.สร้างสื่อ ส่งเสริมให้มีสื่อที่ดี ปลอดภัย และสร้างสรรค์ โดยเฉพาะสื่อของกลุ่มเฉพาะ ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
2.สร้างคน ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่เป็นผู้ผลิตสื่อในทุกระดับ
3.สร้างภูมิคุ้มกัน หรือสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารเชิงลบจำนวนมาก
4.สร้างองค์ความรู้ กองทุนฯ ศึกษาวิจัยพัฒนานวัตกรรม ทำงานวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงจัดให้มีวารสารทางวิชาการของกองทุน
5.สร้างเครือข่ายกับองค์กรต่าง ๆ การขับเคลื่อนสื่อ หรือรณรงค์ให้รู้เท่าทันสื่อ ไม่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานเดียวเพียงลำพัง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน และร่วมมือกับทุกฝ่าย
6.สร้างองค์กรให้ทันสมัย มีความโปร่งใส ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2566 การจัดสรรทุนแบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทแรก คือ ทุนเปิดรับทั่วไป แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน, กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มคนพิการ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ และกลุ่มคนทั่วไป
ประเภทที่ 2 ทุนประเภอเชิงยุทธศาสตร์ เอาประเด็นการผลิตสื่อเป็นตัวตั้ง กำหนดประเด็นที่สอดคล้องกับกองทุนฯ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สถานการณ์ สภาพการเปลี่ยนแปลงของสื่อแต่ละปี นำมาเป็นประเด็นในการให้ทุนยุทธศาสตร์
ประเภท 3 เป็นประเภทที่ให้ความร่วมกับกลุ่มนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์ที่ใกล้เคียงกัน
ด้านการดำเนินงาน ในปี 2566 ได้จัดทำการศึกษาให้มีผลสัมฤทธิ์ของการใช้ พ.ร.บ. โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ศึกษาประเมินผล และรายงานผลสัมฤทธิ์ ผลการศึกษาชี้ชัดว่า กองทุนฯ ดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่จัดตั้ง แต่มีข้อเสนอแนะในข้อจำกัดด้านกฎหมายเรื่องของที่มางบประมาณ เนื่องจากการรับเงินจากกองทุนไม่ได้กำหนดวงเงินชัดเจน แต่เป็นการให้พิจารณาจัดสรรตามความจำเป็นและเพียงพอต่อการดำเนินงาน ซึ่งในทางปฏิบัติมีข้อจำกัด จึงเห็นควรดำเนินการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายในโอกาสต่อไป
ด้าน เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า เห็นด้วยที่กองทุนฯ มีการพูดถึงบทบาทของหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการสร้างการรู้เท่าทันสื่อ แต่ต้องส่งเสริมให้ไปอยู่ในแบบเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะความคิดเชิงวิพากษ์ที่จะต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับเยาวชน
นอกจากนี้ ควรมีการสนับสนุนพื้นที่ให้สื่อจำพวกงานเชิงสืบสวนสอบสวน ข่าวเจาะ งานเชิงลึก สร้างบริบทของสื่อที่จะสร้างสรรค์ในสังคมที่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายหลากหลาย โดยกองทุนสื่อฯ ต้องเข้ามาทำหน้าที่กรุยทางรดน้ำพรวนดิน ให้เกิดระบบนิเวศที่ทำให้เกิดสื่อที่ดีได้ สนับสนุนการรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรองให้กับสื่อ เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพ สวัสดิการของสื่อมวลชน ให้ชีวิตที่ดี จะทำให้เกิดงานสื่อที่ดีขึ้น
ชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หลายกลุ่มเข้าถึงยาก ส่วนใหญ่ขอทุนแล้วไม่ผ่าน อยากเสนอให้กองทุนฯ ปรับรูปแบบการสนับสนุน เช่น แยกกลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มผู้ผลิตสื่อ เป็นต้น
นายธนกร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการอนุมัติทุนเป็นอำนาจของอนุกรรมการบริหาร กองทุนมีกลไกอนุมัติทุนละเอียดรอบคอบ มีการทำเอกสารนำเสนอคณะทำงานชุดแรกเพื่อกลั่นกรองเบื้องต้น ปีหนึ่งมีข้อเสนอโครงการประมาณหนึ่งพันโครงการ โดยให้อนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกทั้งหมด ทำให้คณะทำงานแต่ละคณะมีความเป็นอิสระ ซึ่งกองทุนฯ มีการทำด้วยความรอบคอบ และใช้กรรมการชุดใหม่ทุกปี จากนั้นส่งให้อนุกรรมการกลั่นกรองลำดับสุดท้าย
สำหรับเรื่องข้อจำกัดของสื่องท้องถิ่นที่มีการร้องเรียนว่าเข้าถึงทุนได้ยาก กองทุนฯ มีการลงพื้นที่ไปยังท้องถิ่น พร้อมเปิดช่องทุนประเภทความร่วมมือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ขณะที่ประเด็นการเข้าถึงยาก กองทุนฯ มีการจัดการสอนวิธีการเขียนโครงการ ซึ่งปีนี้มีการรายงานให้บอร์ดแก้ไขข้อบังคับเพื่อสนับสนุนแก่ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว สามารถต่อยอดได้เลย ย้ำว่ากองทุนเข้าถึงง่าย สำหรับเรื่องผลงาน การให้ทุนมีระยะเวลาให้ทุน 1 ปี สามารถขยายได้ 6 เดือน 2 ครั้ง ทำให้ผลงานที่ต้องใช้เวลานาน ได้มีการเตรียมการอย่างน้อย 2 ปี ในการสร้างสรรค์ผลงาน