POLITICS

‘นันทนา‘ เผย ที่ประชุม สว.มีมติตีตกญัตติด่วน จริยธรรมตุลาการศาล รธน.

‘นันทนา‘ เผย ที่ประชุม สว. มีมติเสียงข้างมาก ตีตกญัตติด่วนเรื่อง “จริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มอง อย่างน้อยก็ให้ประชาชนก็เห็นบทบาทของ สว. ในการนำเสนอปัญหาเข้าสภาฯ ชี้ ควรยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาอำนาจล้นเกินขององค์กรที่ให้คุณและโทษ นายกฯ – พรรคการเมือง

วันนี้ (2 ก.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงข่าวถึงกรณีที่ในวันนี้มีการยื่นญัตติด่วนด้วยวาจาให้ตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีการบรรยายสาธารณะกล่าวถึงการยุบพรรคก้าวไกล ว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างที่ตนเองได้นำเสนอในที่ประชุม รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ได้ปิดไมค์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าวุฒิสภา ควรจะเป็นที่ที่มีการสื่อสารกัน ในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นอารยะ แต่กลับถูกปิดไมค์ ไม่มีการรับฟัง ไม่มีการรับรองญัติติ และเปิดให้อภิปรายใด ๆ

สำหรับในวันนี้ ตนเองได้นำญัตติเดิมกลับมาเสนออีกครั้ง เพื่อยืนยันว่า ข้อบังคับที่ 40 (1) กำหนดให้ สว. สามารถเสนอญัตติด่วนได้ ซึ่งในวันนี้ได้รับอนุญาตให้นำเสนอ แต่ก็มีการประท้วง และท้ายที่สุดก็มีการลงมติไม่เห็นชอบตามเสียงข้างมาก ที่จะให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบเรื่องจริยธรรมกันเอง ซึ่งจะเป็นบททดสอบ เบื้องต้นที่ทำให้เห็นว่า การนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ก็จะถูกตีตกด้วยการลงมติ

อีกทั้ง การลงมติในวันนี้ ยังมีการสั่งให้ลงมติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประธานวุฒิสภา ทราบอยู่แล้วว่า ญัตตินี้จะต้องตกไป และไม่สามารถนำกลับมาเสนอในสมัยการประชุมนี้ได้อีก ในรูปแบบการเสนอญัตติ แต่ยังสามารถหารือได้ ซึ่งก็มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา อย่างน้อยการนำเสนอในวันนี้ ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าบทบาทของ สว. สามารถนำเสนอเรื่องราวปัญหาเข้าสภาฯ ได้

เมื่อถามว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากมีการเสนอให้นำเรื่องนี้ไปยื่นต่อองค์กรอิสระ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง น.ส.นันทนา กล่าวถึงบทบาท และขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องทางโครงสร้าง การหยิบยกนำพฤติกรรมของตุลาการบางคนขึ้นมา เป็นกรณีตัวอย่างว่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอำนาจสูงสุด ในแง่ที่สามารถให้คุณให้โทษต่อนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองได้ ก็ควรจะต้องถูกตรวจสอบด้วย แต่ทั้งนี้ด้วยโครงสร้างจะต้องมีการปรับแก้ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระนับวันจะกว้างขึ้น และขยายออกไป แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีการไปดำเนินการเอง หรือร่วมกันเข้าชื่อในบทบาทของ สว.

Related Posts

Send this to a friend