‘ชัชชาติ’ ถก กรุงเทพธนาคม ปมสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
‘ชัชชาติ’ ถก กรุงเทพธนาคม ปมสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อ ต่อรองค่าโดยสารให้ถูกลงได้ เร่งศึกษาภาระหนี้ ก่อนเปิดสัญญาสัมปทานต่อประชาชน
วันนี้ (2 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เบื้องต้นหารือเกี่ยวกับสัญญาการจ้างเดินรถ และโครงการนำสายสื่อสารลงดิน กรอบวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ที่ยังไม่คืบหน้ามาก หาผู้เช่าท่อไม่ได้ การก่อสร้างตั้งงบประมาณกว้าง ทำให้มีปัญหาเรื่องการหารายได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
ประเด็นสำคัญของการหารือวันนี้คือ การไล่เรียงความเป็นมาของสัญญาจ้างเอกชนเดินรถถึงปี 2585 และการอนุมัติจากสภา กทม. ส่วนการลดอัตราค่าโดยสารให้ต่ำกว่า 65 บาท กรุงเทพธนาคมเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ต้องพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เชื่อว่า จะต่อรองให้ค่าโดยสารถูกลงได้ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวถึงปี 2602 เป็นการต่อที่ยาวมาก โดยไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
สำหรับค่าโดยสาร 8 สถานี 25 บาท ถือเป็นเป้าหมายที่ต้องเร่งศึกษา แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น หนี้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม.ต้องจ่าย เป็นปัจจัยที่ทำให้กำไร-ขาดทุนต้องเปลี่ยนไป ซึ่งต้องหารือร่วมกับ กทม. กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อาจใช้กลไกของสภา กทม.ออกข้อบัญญัติเพื่อให้กู้เงินมาใช้หนี้
“ความยากของปัญหาสายสีเขียวคือ เรื่องไม่ได้ค้างอยู่ที่ กทม. จึงไม่มีสิทธิ ทำได้เพียงให้ความเห็นประกอบ ขึ้นอยู่กับว่า ครม.จะดำเนินการอย่างไร จริง ๆ แล้วเรื่องมาจาก ม.44 ที่ให้ต่อสัญญา”
หนี้จากค่าจ้างการเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และ 2 กว่า 4 หมื่นล้าน กรุงเทพธนาคมกำลังทยอยจ่าย ต้องอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นตัวเร่งรัดการแก้ปัญหาระยะยาว เข้าใจว่าสภา กทม.ได้ออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อชำระหนี้ 5.5 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ได้กู้ ต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบและระมัดระวัง
ส่วนการเปิดสัญญาสัมปทานสายสีเขียว คงอาจจะเปิดตามขั้นตอนตามความจำเป็นให้เร็วที่สุด สัญญาสัมปทานที่หมดลงในปี 2572 และจะต่ออายุไปจนถึงปี 2602 เป็นความเห็นของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามมาตรา 44 อาจจะต้องทบทวนเรื่องนี้กับสภา กทม.อย่างละเอียด ก่อนเข้ารายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเร็ววันนี้
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า การคืนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ รฟม.ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นทางเลือกได้หมด เราอยากจะขอเดินรถเอง และคืนหนี้โครงสร้างพื้นฐาน 4 หมื่นกว่าล้าน เพราะถือเป็นภาระหนัก ดูตัวอย่างจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพูที่รัฐจ่ายคืนค่าโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้นทุนไม่แพงมาก
ส่วนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณว่าต้องแบกภาระหนี้เดือนละกว่า 600 ล้านบาท มีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ หนี้โครงสร้างพื้นฐานคือ โยธา หนี้จากระบบ E&M ที่กรุงเทพธนาคมจ้างเอกชน และหนี้การเดินรถ คงต้องเร่งหาทางแก้
“ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ข้อมูลมีอย่างที่เห็น แต่ต้องมาคุยกันให้ชัดเจน”