สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ภาครัฐ เร่งสกัดสับปะรด GMO สีชมพูเข้าไทย ก่อนกระทบผลไม้ส่งออกทั้งระบบ
สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผักผลไม้ GMOs บุกไทย ว่า ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้บริโภค พบการเผยแพร่โฆษณาจำหน่ายสับปะรดที่มีเนื้อสีชมพูบนสื่อสังคมออนไลน์ ใช้ชื่อการค้าว่า Pinkglow® pineapple เป็นของบริษัท DEL MONTE ประเทศคอสตาริกา พัฒนาพันธุ์สับปะรดให้มีเนื้อสีชมพูด้วยกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Pineapple) หรือผลไม้จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms : GMOs) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย
สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เร่งรัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการป้องกันการแพร่กระจายของสับปะรดดังกล่าวในประเทศไทย โดยให้เร่งออกประกาศเรื่อง “ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ” รวมถึง “ฉลากจีเอ็มโอ” และร่วมกันเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนที่พืชผักผลไม้จีเอ็นโอจะปนเปื้อนพืชท้องถิ่น จนสร้างปัญหาการปนเปื้อน การส่งออก และกระทบต่อผู้บริโภค
7 ต.ค. 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4 พ.ย. 2564 ได้รับหนังสือตอบจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า การนำเข้าสับปะรดสีชมพูที่มีการดัดแปรพันธุกรรมเพื่อจำหน่ายในประเทศ อยู่ภายใต้การควบคุมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
3 ธ.ค. 2564 อย. ตอบกลับมาว่า การกำกับดูแลการนำเข้าสับปะรดที่มีการดัดแปรพันธุกรรม อยู่ภายใต้ประกาศตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เมื่อได้รับคำตอบที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่สามารถสรุปได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขอีก 2 ครั้ง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 3 ครั้ง จนได้รับคำตอบว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างออกประกาศว่าด้วยอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และ ประกาศฉลากจีเอ็มโอ ขณะที่คำตอบจาก มกอช. ระบุว่า สับปะรดจีเอ็มโอสีชมพูเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นได้ เนื่องจากมีความเสี่ยง จำเป็นต้องมีหมายค้น สิ่งที่ทำได้คือ ประสานด่านศุลกากร ด่านตรวจพืช ด่านอาหารและยา ให้เข้มงวดการตรวจสอบ และประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้นำโฆษณาออกจากสื่อ และทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลการนำเข้าสับปะรดกับกฎหมายกักพืช
ผ่านมากว่า 9 เดือน นับตั้งแต่สภาองค์กรของผู้บริโภคทำหนังสือไปถึงทั้ง 2 หน่วยงาน ปัจจุบันยังพบว่า มีการขายและรีวิวขายในไทยอย่างต่อเนื่อง สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงมีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสับปะรดดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศ เนื่องจากการควบคุมการปลูกและจำหน่ายสับปะรดจีเอ็มโอสีชมพูในไทย เป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจในการตรวจค้น ยึด อายัด ทำลาย และสั่งไม่ให้นำเข้า ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย หากจำเป็นต้องมีหมายค้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ก็ควรเร่งดำเนินการเพื่อออกหมายค้น
2.ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งออกประกาศว่าด้วยอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศฉลากจีเอ็มโอ ตามที่องค์กรของผู้บริโภคเคยทำข้อเสนอ โดยต้องมีสัญลักษณ์ฉลากจีเอ็มโอที่ชัดเจน และครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์
3.ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร และ อย. สร้างกระบวนการเฝ้าระวังและติดตามการโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์
4.เสนอให้รัฐนำพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ฉบับประชาชน ที่เคยเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนรัฐประหาร มาพิจารณาเป็นกฎหมายและบังคับใช้โดยเร็ว เพื่ออุดช่องว่างปัญหาการลักลอบนำเข้าผลไม้จีเอ็มโอ
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำหนังสือติดตามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 หลังจากวันนี้ ภายใน 3 วัน
รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หากมีสับปะรดจีเอ็มโอปรากฏขึ้นในแปลงผลิตภายในประเทศ จะกระทบกับเกษตรกรชาวสวนสับปะรดและส่งโรงงานสับปะรดกระป๋องทันที เพราะโรงงานผู้รับซื้อจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจรับรองว่า ผลิตภัณฑ์ของตนปราศจากสับปะรดจีเอ็มโอ โดยภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว ย่อมถูกส่งต่อมายังเกษตรกร ด้วยการลดราคารับซื้อลง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกษตรกรผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากสิ่งที่ตนไม่ได้ก่อ จึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการจัดการปัญหาโดยเร็ว
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า หากปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าและปลูกในวงกว้าง ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบกับการส่งออกของอุตสาหกรรมผลไม้ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ และเพิ่มภาระต้นทุนการตรวจสอบของภาคเอกชน จากบทเรียนปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2556 ที่ทำให้การส่งออกลดลง 4-5 เท่า เนื่องจากประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรปไม่ยอมรับ ซึ่งหากปล่อยให้มีการปลูกสัปปะรดสีชมพู ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือ การสูญเสียการส่งออกมูลค่าอย่างต่ำ 8 หมื่นล้านบาท