‘ก้าวไกล’ ยื่น ร่างกฎหมายเอาผิด เจ้าพนักงานยุติธรรมในฐานบิดเบือนกฎหมาย ต่อสภาฯ
วันนี้ (2 มิ.ย. 64) ที่อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล และ ส.ส. พรรคก้าวไกล ยื่นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’ ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายเเพทย์สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับ
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมฐานความผิดใหม่ที่เป็นฐานความผิดที่ไม่มีในระบบกฎหมายเดิมของไทย คือ ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อพนักงานการยุติธรรม โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเเรก คือ ศาล ผู้พิพากษา ตุลาการ เเละส่วนที่สอง คือ ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ ประกอบด้วย พนักงานสอบสวน อัยการ ผู้ว่าคดี
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับความจริงกันอย่างตรงไปตรงมาได้เเล้วว่า กระบวนการยุติธรรมของเรากำลังมีปัญหาและต้องการได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมาอาจมีการอวดอ้างคุณงามความดีต่างๆ ว่าตัดสินเเล้วต้องเป็นที่ยุติแม้ว่ามันขัดต่อมโนธรรมสำนึกของประชาชน แต่หลายตัวอย่างได้พิสูจน์ว่า ไม่เป็นเเบบนั้น พนักงานสอบสวน หรือคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็เป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความรับผิดชอบชั่วดีเช่นเดียวกัน ในบางครั้งอาจเป็นกรณีที่มีเเรงจูงใจทางการเมืองจึงตัดสินคดีเช่นนั้น หรือในหลายกรณีก็อาจจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัว
กฎหมายนี้ต่างกับกฎหมายที่มีอยู่เเล้วอย่างไร อย่างกรณีหากผู้พิพากษากระทำผิดรับสินบนก็จะมีกฎหมายสำหรับลงโทษอยู่เเล้ว ซึ่งมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต แต่ในระบบกฎหมายไทยมีช่องว่าง คือ ถ้าไม่ใช่กรณีรับสินบน แต่เป็นกรณีความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นกรณีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเเล้วบิดเบือนกฎหมาย เรายังไม่มีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดนี้เลย โดยพรรคก้าวไกลได้เเรงบันดาลใจมาจากระบบกฎหมายเยอรมัน ประกอบกับวิทยานิพนธ์ ที่ตนเคยศึกษาที่ ม.ธรรมศาสตร์ จึงเห็นว่า ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ และมีความตั้งใจว่านี่คือการเริ่มต้นของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อย่าให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมเป็นเช่นนี้อีกต่อไปอีก
“วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง พรรคก้าวไกลทราบดีว่าไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นด้วยกฎหมายแค่ฉบับนี้ฉบับเดียวเท่านั้น คงต้องมีขั้นตอน มีอีกหลายวาระที่เราจะต้องทำเพื้อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป กระบวนการยุติธรรมที่ดี คือกระบวนการยุติธรรมที่ตรวจสอบได้ กระบวนการยุติธรรมที่ดี คือกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับความเชื่อถือ ได้รับความความชอบธรรมจากประชาชน หวังว่าวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ยอมรับต่อกระบวนการยุติธรรมไปมากกว่านี้”
จากนั้นสื่อมวลชนได้ถามถึงทิศทางของการลงมติรับหรือไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระเเรก ที่กำลังมีการพิจารณาในขณะนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เมื่อพรรคร่วมต่างเห็นปัญหาและวิจารณ์อย่างรุนแรงแล้วถึงตอนโหวตก็ให้ช่วยกันโหวตไม่รับร่างด้วย ไม่ใช่พูดอย่างเดียว นี่คือการอภิปรายครั้งที่ 3 ซึ่งหน้าที่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือนำเสนอวิธีการจัดสรรงบประมาณที่ดี แต่ฝ่ายรัฐบาลต้องไม่ใช่ดีแต่พูด ต้องเเสดงออกเพื่อความชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการการเล่นละครเพื่อกดดันให้ได้ผลประโยชน์ที่ตัวเองต้องการ พอได้แล้ววก็จบ สุดท้ายผลลัพธ์ที่เเย่ก็ไปตกที่ประชาชน