‘ก้าวไกล’ แก้กฎหมายห้ามผู้ปกครองลงโทษเฆี่ยนตีบุตร
‘ก้าวไกล’ ผลักดันแก้กฎหมายแพ่ง 1567(2) ห้ามผู้ปกครองลงโทษเฆี่ยนตีบุตรหรือการกระทำที่เป็นการด้อยค่าเด็ก
วันนี้ (1 ก.ย. 65) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) พิษณุโลก พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นางสาวภัสริน รามวงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวหลังพรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ (31 ส.ค. 65)
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.พิษณุโลก มีผู้ปกครองลงโทษบุตรอายุ 2 ขวบจนเสียชีวิต ซึ่งในประเทศไทยเกิดเรื่องลักษณะกังกล่าวให้เห็นมากมาย
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567 (2) ซึ่งเขียนไว้ว่า “ผู้ปกครองมีสิทธิ์ทำโทษบุตร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร” นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า เป็นข้อกฎหมายที่เขียนกว้าง และตามสมควรนั้นไม่มีมาตรฐาน และไม่มีสิทธิเด็กอยู่ในข้อกฎหมาย สิ่งนี้จึงนำไปสู่การทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นด้อยค่า ส่งผลไปต่อวงจรความรุนแรง ที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้น และใช้ความรุนแรงต่อไปในระยะยาว
พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้เพิ่มถ้อยคำ เพื่อขยายคำว่าตามสมควร เป็นว่า “แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใด อันเป็นการด้อยค่า” เพื่อป้องกันการลงโทษที่เป็นการทารุณกรรมทั้งร่างกายและจิตใจ การกดขี่อัตลักษณ์ทางเพศ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายเพียงมาตราเดียวนี้คือ สิ่งที่จะปกป้องเด็กจากการถูกทารุณกรรมทุกรูปแบบได้ จึงขอให้สภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน โดยได้ยื่นเรื่องต่อสภาฯ แล้วเพื่อให้ทันการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า
นางสาวภัสริน กล่าวว่า นอกจากจะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อปกป้องเด็กแล้ว การแก้กฎหมายฉบับนี้ยังสอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก และข้อเสนอแนะของนานาประเทศต่อไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (U.P.R) รอบที่ 2 ตั้งแต่ปี 2559 – 2563 ที่รัฐบาลไทยยอมรับว่าจะเร่งแก้ข้อกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ดำเนินการช้าเกินกรอบระยะเวลามา 2 ปีแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหานี้หรือไม่
“ผู้ปกครองยังมีหน้าที่และอบรมสั่งสอนบุตรหลาน รวมถึงการให้วินัย แต่จะทำให้เกิดการตระหนักรับรู้ใหม่ในสังคม ว่าการที่เราอบรมเด็กให้มีวินัยหรือสั่งสอนในทางที่สมควรนั้น มีอีกหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่ และเข้าใจถึงพัฒนาการและปัญหาของเด็กให้มากขึ้น” นายปดิพัทธ์ กล่าว