POLITICS

‘พิธา’ พูดคุยร่วมสมาคมฯ ท้องถิ่น ผลักดันเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยัน ต้องใช้เวลาเตรียมตัว

‘พิธา’ พูดคุยร่วมสมาคมฯ ท้องถิ่น ผลักดันเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยัน ต้องใช้เวลาเตรียมตัว แก้รัฐธรรมนูญ ให้มองไปในทิศทางเดียวกัน มอง ปมความเห็น ‘จเด็ด’ ต้องการรัฐบาลแห่งชาติหรือแห่งประชาชน ย้ำชัด อย่าสวนมติประชาชน อาจเป็นเหตุเริ่มต้นความขัดแย้ง มอง ‘กลาโหม’ แถลงลดพลทหาร เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

วันนี้ (1 มิ.ย. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังจากร่วมประชุมกับนายกสมาคม อบต. แห่งประเทศไทย นายกสมาคมอบจ. และเทศบาล เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะนโยบายกระจายอำนาจ ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

นายพิธา ระบุว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมระหว่างพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และ 3 สมาคมบริหารส่วนท้องถิ่น โดยพูดคุยร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมากขึ้น ในกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นของไทย วางแผนการบริการจัดการในช่วงเปลี่ยนผ่าน 100 วันแรก ซึ่งมีหลายคำสั่งที่ไม่เอื้อให้ผู้บริหารสามารถทำงานได้ และนำปัญหามาเป็นที่ตั้งทั้งในเรื่องอุทกภัย สิ่งแวดล้อม ปัญหาการเกษตร และจะมีระเบียบอะไรที่เมื่อพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และแก้ไขทำได้ใน 100 วันแรก

“ต่อมาการคุยใน 1 ปีสามารถทำอะไรได้บ้าง และในระยะเวลา 4 ปี พูดถึงแผนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการทำประชามติของประชาชนในปีแรก เพื่อให้เห็นแผนการทำงานที่ชัดเจน ยืนยันว่าไม่ได้สุดโต่ง และในวันที่ 15 – 16 มิ.ย. นี้จะมีการทำเวิร์คชอป พูดคุยเรื่องรายละเอียดของกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยเรื่องการจัดการ ซึ่งมีสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าจากข้อเสนอแนะของทางสมาคมฯ มีกำหนดการในช่วงเวลาใดที่ จะไม่สามารถทำได้หรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ไม่มีอะไรที่ไม่สามารถทำไม่ได้ แต่ต้องทำอย่างรวดเร็ว รอบคอบ เพื่อพี่น้องประชาชน

เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทางพรรคก้าวไกลจะดำเนินการอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของการทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งหากฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดการในแต่ะะพื้นที่ ก็คงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

เมื่อถามอีกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะวางกรอบให้ท้องถิ่นเป็นอิสระจากส่วนกลางหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า การกระจายอำนาจต้องมีงบประมาณ มีภารกิจ การกระจายบุคลากร ดังนั้นต้องรอบคอบ ผมยกตัวอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีการกระจายภารกิจกับบุคลากร แต่ทรัพยากรกับงบประมาณไม่ได้ตามลงมาด้วยซึ่งทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ทั้งนี้การบริหารจัดการเรื่องการกระจายอำนาจต้องมีอิสระในการทำงานมากขึ้น มีอิสระในการบริหารการเงินมากขึ้น ถึงจะทำให้การบริการประชาชนดีมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงการแสดงความเห็นของนายจเด็ด อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายพิธา ระบุว่า ตนเองยังไม่ได้ฟังทั้งหมด แต่คำถามสำคัญคือที่อยากถามกลับไปคือต้องการรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลของประชาชน เพราะ 8 พรรคการเมืองที่ตั้งรัฐบาลร่วมกันก็ได้เสียงมามากกว่าครึ่ง ถ้าเราเคารพเสียงประชาชน และช่วยกันเตือนว่า ทุกครั้งที่ไม่เคารพมติของประชาชน จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย่ง ไม่มีใครอยากให้เกิดความขัดแย้งอีกต่อไป แต่การที่เรารักษาระบบ จะรักษาไม่ให้เกิดความขัดแย้งได้ ประวัติศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สอนเราแล้วว่าอะไรเป็นต้นเหตุความขัดแย้ง

จึงขอยืนยัน ตนเองพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีของคนทุกคน และเคารพทุกความเห็นต่าง และการนำชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่นั้น ตนมองว่า ถ้าสวนมติประชาชน ที่เขาไม่ได้เลือกมา ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง

ส่วนกรณีสภากลาโหมแถลงเมื่อวาน (31 พ.ค. 66) ว่ามีความต้องการพลทหารลดน้อยลง แล้วเป็นสัญญาณที่ดีว่าในปี 2570 อาจจะปรับไปสู่ระบบการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจได้ นายพิธา เผยว่า เมื่อครั้งตนเป็นกรรมาธิการงบประมาณ เมื่อปีที่แล้ว ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหมเข้ามาชี้แจง ตนจึงได้มีโอกาสเห็นเอกสารระบุว่า ได้มีแผนปฏิรูปกองทัพซึ่งเตรียมจะทำไว้ตั้งแต่หลายปีก่อน ซึ่งสอดคล้อง กับข้อเสนอของพรรค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่

“เป็นกระดาษที่ทำให้เห็นภาพอยู่ว่าจะลดงบประมาณกองทัพเท่าไร ลดทหารเกณฑ์เท่าไหร่ แล้วมีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพมาหลายครั้ง ทั้งในและนอกห้องงบประมาณ แต่ปัญหาคือเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นายพิธา กล่าวว่าหากการที่สภากลาโหมออกมาแถลงเมื่อวานนี้ เป็นความตั้งใจจริง ที่จะเปลี่ยนแผนในกระดาษ เป็นแผนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นได้จริง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และเป็นการปรับตัวของกองทัพ ตามความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นว่าความท้าทายของโลก และของประเทศนี้แตกต่างออกไปมากแล้ว

“หากทำให้กองทัพจิ๋วแต่แจ๋ว ทันสมัย มีความเป็นสากลมากขึ้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนชื่นชมไปด้วย ก็ขอให้ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่แท้จริง หากเกิดขึ้นได้จริงแล้วการทำงานระหว่างพรรคก้าวไปและกระทรวงกลาโหม รวมถึงสภากลาโหม ก็จะเป็นทิศทางที่ดี และทำให้ประชาชนชื่นใจได้”

ขณะที่แผนของสภากลาโหมที่มีความต้องการพลทหารปีละ 9 หมื่นคนจากเดิมปีละ 100,000 คน นายพิธา ระบุว่า พรรคก้าวไกลมองว่า จำนวน 6 หมื่นคนต่อปี น่าจะเพียงพอ แต่อย่างน้อยมีเจตจำนงมา เรื่องรายละเอียดสามารถพูดคุยกันได้ แต่อย่างน้อยได้ทำให้กองทัพ มีความทันสมัยมากขึ้น ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าการเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นการนำมวลชนมาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ไม่เกี่ยวข้องกับมวลชน มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเร็วที่สุด และมีหลายเรื่องที่สังคมต้องการคำตอบอยู่ พยายามอยากทำงานล่วงหน้า ให้รวดเร็ว และรอบคอบ พร้อมยืนยันว่าการพูดคุยกับข้าราชการไม่ได้เป็นการละลาบละล้วง เราต้องมีกรอบการพูดคุย มีวุฒิภาวะ ต้องทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่าน 2-3 เดือนนี้ลื่นไหลมากที่สุด และจะไม่สร้างความสับสนให้ข้าราชการหรือประชาชน

ส่วนเรื่องที่นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แนะนำให้นายพิธา ดูการทำงานของพลเอกประยุทธ์เป็นต้นแบบนั้น นายพิธา ระบุว่า ตนเองขอยึดประชาชนเป็นหลัก เพราะประชาชนเป็นคนเลือกมา

Related Posts

Send this to a friend