พรรคประชาชน แถลงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

พรรคประชาชน แถลงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ตั้งทีมตรวจสอบเหตุ ตึก สตง. ถล่ม เร่งคลายความกังวลประชาชน พร้อมติดตาม Cell Broadcast เสนอแนวทางเยียวยาและวางแผนรับมือภัยพิบัติระยะยาว แนะ รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่น-ตรวจสอบอย่างโปร่งใส
วันนี้ (1 เม.ย. 68) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลกรณีเหตุแผ่นดินไหวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ส่งกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ รวมถึงครอบครัวที่กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด
ช่วงที่ผ่านมา พรรคประชาชนช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดตั้งแต่เกิดเหตุ โดยสั่งการไปยังเครือข่ายทีมงานจังหวัดของพรรคทั่วประเทศ รวมถึง สส.พรรคเขตต่าง ๆ ให้ลงพื้นที่ รวบรวมปัญหาเพื่อประสานงานต่อ โดยเปิดเว็บไซต์ https://earthquake.peoplesparty.or.th เพื่อแสดงผลให้เห็นว่ามีประชาชนพื้นที่ใดบ้างที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้
สำหรับภารกิจที่ดำเนินการไปแล้ว เป็นการเร่งดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการเข้าพักอาคารสูงต่าง ๆ รวมถึงการตรวจอาคารเบื้องต้น ช่วยเติมเต็มพื้นที่ปริมณฑล เช่น จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ให้ประชาชนที่อยู่ในอาคารหลายแห่งเชื่อมั่นมากขึ้นว่าปลอดภัยเพียงพอและดำเนินชีวิตต่อไปได้
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือการใช้ความเป็นผู้แทนราษฎรสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคลี่คลายความกังวลและความสับสนของประชาชนโดยเร็ว ทำให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิ์และการเยียวยาจากภาครัฐ และภาคประกันภัยอย่างรวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรม เบื้องต้นได้มอบหมายให้ สส.ในพรรค เป็นหัวหน้าทีมในแต่ละภารกิจย่อย ดังนี้
1.การสำรวจอาคาร มอบหมายให้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ติดตามความคืบหน้า เบื้องต้นพรรคประชาชนร่วมมือกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย สำรวจอาคารที่พักอาศัยเบื้องต้นให้กับประชาชนในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องให้วิศวกรโครงสร้างซึ่งเป็นผู้ออกแบบ หรือวิศวรกรโครงการ วิศวกรที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ตรวจรับงาน มาตรวจรับอย่างเป็นทางการอีกทีหนึ่ง
การตรวจอาคารจำเป็นต้องเร่งรัดการตรวจสอบ และจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่จำเป็นต้องเร่งตรวจสอบ เพื่อทำให้ประชาชนไม่เกิดตื่นตระหนกในอนาคต รัฐต้องไม่ลืมอาคารพักอาศัยประชาชนที่มีรายได้จำกัด เช่น อาคารสงเคราะห์และบ้านเอื้ออาทร โดยเฉพาะอาคารที่มีการก่อสร้างมาเป็นเวลานาน
2.ทำให้ประชาชนเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐ ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตลอดจนเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย มอบหมายให้ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ รับผิดชอบ โดยหลังเหตุเริ่มคลี่คลายจะเร่งประสานกับ กทม. เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว เข้าใจว่าวงเงินเบื้องต้นอยู่ที่ไม่เกินครอบครัวละ 49,500 บาท สำหรับครอบครัวที่เครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย จะได้รับครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
นอกจากนี้ นายศุภณัฐต้องเร่งประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทประกันภัยอย่างเป็นธรรม อาจมีข้อเสนอแนะกับรัฐบาลถึงมาตรการลดหย่อนภาษี ออกมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการซ่อมแซมที่พักอาศัยและการเข้าไปกำกับควบคุมราคาวัสดุก่อสร้างเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมผู้ประสบภัย
3.กรณีอาคาร สตง. จ้างงานในรูปแบบเหมาช่วงเป็นจำนวนมาก ต้องมีการสำรวจโดยละเอียดว่ามีคนงานในพื้นที่จริงกี่คน สูญหายกี่คน ทราบว่ามีลูกจ้างจำนวนไม่น้อยที่นายจ้างไม่ได้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคม ต้องดูว่ารัฐบาลจะเยียวยาได้หรือไม่ โดยมอบหมายให้ นายเซีย จำปาทอง ดูแล
4.การตรวจสอบอาคาร สตง. ถล่ม มอบหมายให้ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ตรวจสอบอย่างละเอียด ตั้งแต่ TOR การประมูลจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสัญญา การออกแบบอาคาร การควบคุมการก่อสร้าง และการใช้วัสดุต่าง ๆ
5.การตรวจสอบทุนต่างชาติเข้ามากินรวบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไทย มอบหมายให้ นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ติดตามตรวจสอบว่ามีการใช้นอมินีคนไทยมาถือหุ้นแทนบริษัทจีน หรือบริษัทต่างชาติใดหรือไม่ และเข้ามาทำธุรกิจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการชาวไทยหรือไม่
6.กรณี Cell Broadcast มอบหมายให้ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ติดตาม มั่นใจว่าภายในกรกฎาคมนี้ จะมีระบบ Cell Broadcast แจ้งเตือนสาธารณภัยทันท่วงที แต่ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดการ ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะใช้ระบบหรือช่องทางใดในการเตือนภัยไปพลางก่อน
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงแผนการรับมือกับภัยพิบัติระยะยาวว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนมากเพียงพอ การตั้งระบบบริหารจัดการภัยพิบัติรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง เพื่อให้รัฐบาลเห็นในภาพรวม ยอมรับว่ายังมีอาคารอีกหลายแห่งที่สร้างก่อนกฎกระทรวง พ.ศ.2550 ว่าด้วยการก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับผลสะเทือนจากแผ่นดินไหว การวางแผนในระยะยาวหากมีแผ่นดินไหวครั้งต่อไป รัฐบาลจะมีตัวเลขแถลงให้รับทราบว่าอาคารใดบ้างจำเป็นต้องเสริมความแข็งแรงรองรับเหตุแผ่นดินไหวในอนาคต
ส่วนกรณีที่ดีเอสไออาจรับเป็นคดีพิเศษ ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน จากการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก มีบางส่วนที่อาจไม่ได้มาตรฐาน แต่ส่วนใหญ่อาจผ่านเกณฑ์อยู่ เร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเกิดจากแบบการก่อสร้าง หรือเกิดจากที่วัสดุไม่ดี หรือการควบคุมการก่อสร้างไม่ดี ควรรอให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการล็อบบี้ว่าให้ตรวจสอบตึก สตง. อย่างโปร่งใส มองว่าสิ่งสำคัญในช่วงเหตุวิกฤตคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน นอกจากการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ก็คือเรื่องของความโปร่งใส หากรัฐบาลดำเนินการโปร่งใสไม่มากเพียงพออาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นได้ รัฐควรดำเนินการ ด้วยความโปร่งใสอย่างตรงไปตรงมา