ภาคประชาสังคมไทย-เมียนมา เรียกร้องผู้นำ BIMSTEC ยกเลิกเชิญ ‘มิน อ่อง หล่าย’ เข้าประชุม
ตัวแทนภาคประชาสังคมไทย-เมียนมา เรียกร้องรัฐบาล-ผู้นำกลุ่มประเทศ BIMSTEC ยกเลิกเชิญ ‘มิน อ่อง หล่าย’ เข้าประชุม วอน กองทัพเมียนมา เปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา
วันนี้ (1 เม.ย. 68) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายวิชัย จันทวาโร ตัวแทนภาคประชาสังคมไทย-เมียนมา ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีกรณีเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และผู้นำกลุ่มประเทศ BIMSTEC ยกเลิกการเชิญ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา และตัวแทนจากกองทัพเมียนมาเข้าร่วมประชุม BIMSTEC วันที่ 3-4 เม.ย. นี้
นายไมค์ ตัวแทนจากภาคประชาสังคมเมียนมา เปิดเผยว่า พลเอกอาวุโสมิน ออง หล่าย ไม่ได้เป็นรัฐบาลโดยชอบธรรมของประชาชนเมียนมา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ยึดอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้ทหารเมียนมายังคงเข่นฆ่าประชาชนในประเทศเมียนมา ซึ่งในมุมมองของคนเมียนมามองว่าพลเอกอาวุโสมิน ออง หล่าย และทหารเป็นผู้ก่อการร้ายการที่รัฐบาลไทยเชิญมา เป็นการให้ความชอบธรรมกับพลเอกอาวุโสมิน ออง หล่าย มากขึ้น
แม้ช่วงที่ผ่านมาเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในเมียนมา มีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย บ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก ขณะที่พลเอกอาวุโสมิน ออง หล่าย ทำสงครามทางอากาศหลังจากการเกิดรัฐประหารในรัฐเมียนมามีการใช้กำลังทางทหาร เพื่อเข่นฆ่าประชาชน ไม่ได้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือประชาชน
พลเอกอาวุโสมิน ออง หล่าย ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเมียนมาต้องทุกข์ยากเป็นอย่างมาก และมีผลกระทบถึงประเทศไทย จากการที่คนไทยต้องรับผู้อพยพจากสงครามเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยเท่านั้นจะช่วยหยุดสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 2-3 วันข้างหน้า เพราะรัฐบาลไทยมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้
นายวิชัย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของ 319 องค์กรที่ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกไม่ให้เชิญมินอ่องหล่าย ในการเข้าร่วมประชุม BIMSTEC ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งองค์กรภาคประชาสังคมในไทยและเมียนมา และระดับนานาชาติที่ร่วมกันลงชื่อ เรามีความคาดหวังสองอย่างคือ
1.ขอให้ไม่เชิญพลเอกมิน อ่อง หล่าย มาร่วมประชุม ซึ่งมีการเชิญแล้ว เพียงแต่อยากให้ยกเลิก และไม่เชิญตัวแทนอื่นใดจากกองทัพทหารเมียนมามาประชุม
2. สถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้หนักหน่วงมากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว การกู้ภัยเป็นไปได้อย่างยากลำบาก จึงอยากให้ทหารเมียนมาเปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยธรรมในเมียนมา และเปิดให้เข้าไปช่วยอย่างเข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน
นายวิชัย ย้ำว่า ในการประชุม BIMSTEC อยากขอให้รัฐบาลไทยใช้หลักการนี้ในการเรียกร้องให้ทหารพม่าเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และเปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปรายงานข่าวอย่างถูกต้อง เป็นธรรม เพื่อนานาประเทศได้รับรู้ว่าเกิดขึ้นอย่างไรในประเทศ
ทั้งนี้ มีการยื่นหนังสือถึงสถานทูตอินเดีย สถานทูตภูฏาน สถานทูตบังกลาเทศ สถานทูตศรีลังกา และ สถานทูตเนปาล ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก รวมถึงไทย และเมียนมา เรายังไม่มีการพูดคุยกันว่าวันประชุมจริงจะมีการตอบสนองอย่างไร คาดหวังว่าการประชุมจะเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่มีผู้แทนจากเมียนมาเข้ามาร่วม