‘อนุทิน’ เผย ให้แรงงาน 3 สัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันกลับบ้านช่วงสงกรานต์ได้
‘อนุทิน’ เผย ให้แรงงาน 3 สัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามประกาศกระทรวงมหาดไทย กลับบ้านช่วงสงกรานต์ได้ ลดความกดดันจากการทำงานที่ไทย
วันนี้ (1 เม.ย. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการออกกฎหมายผ่อนผันให้แรงงาน 3 สัญชาติ สามารถกลับประเทศได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า การผ่อนผันข้างต้น เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความกดดันให้กับแรงงานที่เดินทางมาทำงานที่ไทย โดยให้กลับบ้านไปใช้เวลากับครอบครัว หรือคนใกล้ชิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ผ่อนผันแรงงาน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา กลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ เริ่ม 1 เมษายน – 15 พฤษภาคม โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตอีก แต่หากกลับเข้ามาไทยหลังช่วงเวลาที่กำหนด จะถือว่าการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยของแรงงานต่างด้าวผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง หากประสงค์เดินทางเข้าจะต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit) ตามปกติ ซึ่งแรงงาน กัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ได้รับการผ่อนผันตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ มี 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารแทนหนังสือเดินทาง ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส L-A และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยยังเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
2.ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำงานในเรือประมงและมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส L-A และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในไทยยังเหลือไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
3.ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอนุมัติของ ครม. อนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 17 (พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522) ที่ผ่านการตรวจสัญชาติ และมีหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งได้รับการการตรวจลงตามประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส L-A รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวกังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ได้รับการตรวจลงตราประเภทผู้ติดตามและระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567