‘ธีรยุทธ’ เดินหน้ายื่นยุบพรรคก้าวไกล ชี้ช่องแก้ ม.112 ได้ แต่ต้องทำตามครรลอง
วันนี้ (1 ก.พ.67) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการหาเสียงของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยนายธีรยุทธ ได้นำคำร้อง พร้อมเอกสารประกอบทั้งหมดจำนวน 116 แผ่น มายื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้บังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ 2560 ในมาตรา 92 ที่ระบุว่าเมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง
การมายื่นคำร้องครั้งนี้ เพราะต้องการทำหน้าที่ให้ครบถ้วน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตนเองจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ให้เสร็จสิ้นกระบวนการ เดิมแค่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญยสั่งให้หยุดการกระทำ แต่เนื่องด้วยหลายปัจจัย และได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลอย่างละเอียดหลายรอบแล้วเห็นว่า ตนเองมีภาระผูกพันในฐานะผู้ร้องจำต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยิทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้ใดทราบเหตุให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนในอนาคตหาก กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบอบการเมืองการปกครอง อีกทั้งพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคการเมืองที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เชื่อว่า หากเกิดความขัดแย้ง เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ที่แต่ละคนควรจะต้องพิจารณาถึงหลักการ
ขณะที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ เป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในการแก้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อาจจะไม่สามารถพูดหรือนำเสนอได้ทั้งในและนอกสภาฯ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายธีรยุทธ ชี้ว่าหากอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด บรรทัดสุดท้าย วินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นการปิดประตู แต่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นไปตามครรลองของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มองว่าการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 จะต้องเป็นฉันทามติ ไม่ใช่วาระซ่อนเร้นทางการเมือง โดยประชาชนอาจจะยังไม่ทราบถึงรายละเอียดของกฎหมาย ศาลเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีหลักการและเหตุผลในการพิจารณา ซึ่งก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยศาลได้มีการประชุมพิจารณา คำร้องของตนเองถึง 62 ครั้ง คำวินิจฉัยที่ออกมานั้นจึงมีความละเอียดรอบด้านแล้ว