POLITICS

กกต.เปิดไทม์ไลน์แบ่ง 400 เขตไม่เกิน ก.พ. ยึดหลักกฎหมายทุกขั้นตอน

กกต. เปิดไทม์ไลน์แบ่ง 400 เขตไม่เกิน ก.พ. ยึดหลักกฎหมายทุกขั้นตอน เผยเปิดฟังความเห็นประชาชน 4-13 ก.พ. ก่อนเคาะทางการ ยืนยัน พร้อมจัดเลือกตั้งไม่ว่ายุบสภา-สภาหมดวาระ

วันนี้ (1 ก.พ. 66) นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวที่สำนักงาน กกต. อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อชี้แจงถึงการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 400 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ

นายปกรณ์ เริ่มต้นการแถลงข่าว ชี้แจงถึงกระแสวิจารณ์ว่า กกต. เข้าพบรัฐบาล เพื่อขอเวลารัฐบาล 45 วันไม่ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า กกต. ได้ประสานกับรัฐบาลตลอดตามแผนงาน ครั้งนี้เข้าหารือเพื่อทำความเข้าใจว่า เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว จะมีกำหนดการโดยคร่าว ดังนี้

  • วันที่ 1-3 ก.พ. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ
  • วันที่ 4-13 ก.พ. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในแต่ละพื้นที่
  • วันที่ 14-16 ก.พ. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสรุปความเห็นและเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งมาให้ กกต. พิจารณา
  • วันที่ 20-28 ก.พ. กกต. พิจารณารูปแบบการเลือกตั้งที่ชัดเจน ดังนั้น กกต. มีเวลาพิจารณาอย่างน้อย 4 วัน วันละ 100 เขต

แต่ที่เลขาฯ กกต. ระบุว่า ขอเวลา 45 วันนั้น นายปกรณ์ ชี้แจงว่า เป็นการคิดเผื่อพรรคการเมืองเพื่อให้มีเวลา 20 วันในการส่งผู้สมัครเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งจะจัดขึ้นได้เมื่อใด เพราะต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศการเลือกตั้งก่อน

นอกจากนี้ ในวันพุธที่ 8 ก.พ. นี้ กกต. จะเชิญทุกพรรคการเมือง ที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ชี้แจงถึงค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง การหาเสียง และการทำไพรมารีโหวตในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ไม่ว่ารัฐบาลจะครบวาระ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎร และขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้คำยืนยันแล้วว่า จะไม่ก้าวล่วงอำนาจ กกต.

นายปกรณ์ ยังชี้แจงถึงประกาศ กกต.เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรว่า จะต้องแยกระหว่างจำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร์ในปีสุดท้ายก่อนที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองท้องถิ่น จะประกาศทั้งจำนวนราษฎรทั้งมีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า การหาจำนวนราษฎร จะต้องคิดคำนวณรวมถึงบุคคลที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะต้องคำนึงถึงบุคคลที่มีสิทธิใช้บริการ และมีหน้าที่ในการเสียภาษีอากรในการคิดค่าธรรมเนียมการให้บริหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ และไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะผู้มีสัญชาติไทย ก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน จึงยืนยันว่า การพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามหลักการ เหมือนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2557 และ 2562

ส่วนกรอบเวลาดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. นั้น นายปกรณ์ ชี้แจงว่า กกต. มีกำหนดการการดำเนินงานไว้แล้ว ตั้งแต่วันนี้ ถึงจนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ กกต.จังหวัด จะดำเนินการจัดทำรูปแบบการแบ่งเขต และติดประกาศเผยแพร่ในวันที่ 4 – 13 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับฟังความเห็นประชาชน และพรรคการเมือง และในวันที่ 14 – 16 กกต. ซึ่งแต่ละจังหวัดจะสรุปรูปแบบ และส่งมายัง กกต.กลาง โดย กกต.กลาง จะเร่งสรุปการแบ่งเขตตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ให้แล้วเสร็จทั้งหมด 400 เขตการเลือกตั้งโดยเร็ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่หาก กกต. จังหวัดไม่สามารถสรุปรูปแบบการแบ่งเขตที่เหมาะสมได้ กกต. กลางจะมีอำนาจแบ่งเขตตามความเหมาะสมได้เองหรือไม่ นายปกรณ์ ตอบว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่หลายจังหวัดแล้ว ยืนยันว่า ไม่มีจังหวัดใด ที่ปฏิเสธว่าทำไม่ได้ ทั้งเขตใหญ่ นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี บุรีรัมย์ ฯลฯ สามารถทำได้ และมีความพร้อม

นายปกรณ์ ยังตอบชี้แจงถึงประกาศ คสช. ที่ให้อำนาจ กกต. กำหนดรูปแบบการแบ่งเขตได้เองว่า หมดอายุลงไปแล้ว ทั้งยังยืนยันว่า การดำเนินการแบ่งเขตของ กกต. ตั้งแต่ปี 2562 กกต. ได้ดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามข้อครหาว่าเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว และในการแบ่งเขตครั้งนี้ กกต. ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั่วประเทศ คำนึงถึงอาณาเขตที่ติดต่อกัน และจำนวนราษฎรจะต้องแตกต่างแต่ละเขตการเลือกตั้ง ไม่เกินร้อยละ 10

ทั้งนี้ กรรมการการเลือกตั้ง ยังย้ำว่า ระหว่างที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ที่สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดตั้งแต่วันที่ 4-13 ก.พ. นั้น หากมีความเห็นต่างหรือต้องการคัดค้าน สามารถยื่นเรื่องได้ที่ กกต. ประจำจังหวัดได้ทันที

Related Posts

Send this to a friend