เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่ยุบ” พรรคอนาคตใหม่ เหตุไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอตามที่กล่าวหา
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารคำวินิจฉัย ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยคำวินิจฉัย คำร้องกรณีนายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ปรากฏผลดังนี้
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” วรรคสองบัญญัติว่า “ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้” วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”
บทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยกำหนดกลไกในการดำเนินการในกรณีมีการฝ่าฝืนอันเป็นบทบัญญัติที่วางหลักการเพื่อปกป้องคุ้มครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จึงเป็นหลักการสำคัญที่มุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มันคงสถาพร มิให้ถูกล้มล้างหรือเซาะกร่อนบ่อนทำลายไปโดยไม่ชอบ
โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตรวจสอบและมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง เสียก่อนที่การกระทำนั้นจะบังเกิดผล โดยสภาพจึงเป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของประเทศมีให้เกิดขึ้นได้ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องไม่ห่างไกลจนเกินเหตุตามสภาวการณ์ที่ปรากฏแก่วิญญูชนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ทั้งยังต้องกำลังดำเนินอยู่และยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้
กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการออกข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง เนื่องจากข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรคดังกล่าว มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) และมาตรา 15 (2) และ (3) นั้น เห็นว่า เมื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 17 และมีประกาศการจัดตั้งพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กรณีย่อมแสดงให้เห็นว่าข้อบังคับพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้
อย่างไรก็ดี การยื่นคำร้องของผู้ร้องนี้ คงเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ร้องในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองของประเทศ ดังนั้น ข้อบังคับพรรคของผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้ถ้อยคำว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนรายการคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง ข้อ 5 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ … ” การใช้ข้อความในข้อบังคับของพรรคการเมืองควรที่จะให้มีความชัดเจนไม่มีความคลุมเครือ แตกต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) ได้ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้นได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม เพื่อป้องกันความสับสนขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป
ส่วนกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 4 มีพฤติการณ์ แนวคิด ทัศนคติ คลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก เป็นขบวนการปฏิกษัตริย์นิยม มีแนวความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทย โดยการแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ดังปรากฏตามสื่อมวลชนและสื่อสาธารณชนที่ผ่านมา เช่น การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน การแสดงความคิดเห็นต่อหน้าสาธารณชน การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแสดงความคิดเห็นในช่องทางต่าง ๆ นั้น เห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏในคดีเป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเทอร์เน็ต และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องทั้งสี่มีพฤติการณ์หรือการกระทำตามความคิดเห็นที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด กรณีจึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ส่วนกรณีการกระทำอื่นใดของผู้ถูกร้องทั้งสี่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสี่ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง