‘เฉลิมชัย‘ กำหนด 4 มาตรการ สั่ง ทช. – อส. ลุยแก้ปมพะยูนเกยตื้น จัดเตรียมคอกอนุบาลในทะเลดูแลพะยูนที่ไม่แข็งแรง พร้อมเร่งฟื้นฟู ‘หญ้าทะเล’

วันนี้ (7 ธ.ค. 67) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ทำให้พะยูนเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงกำหนด 4 มาตรการ ประกอบด้วย
1.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง และแบบสำรวจการพบเห็นพะยูนให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบจำนวน พื้นที่การแพร่กระจายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสำรวจสุขภาพของพะยูนแต่ละตัว เพื่อหามาตรการไม่ให้พะยูนตายจากการขาดอาหาร
2.หาแนวทางประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ ป้องกันอันตรายจากการประกอบกิจกรรมในทะเลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพะยูนที่เข้ามาอาศัย ออกประกาศพื้นที่คุ้มครองพะยูนชั่วคราว คาดว่าจะประกาศ 3 จุด ประกอบด้วย หน้าหาดราไวย์ อ่าวบางโรง และอ่าวบางขวัญ ซึ่งเป็นจุดที่พบพะยูนจำนวนมาก
3.ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิตและอ่อนแอ โดยเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหาร กำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วนเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษโดยเสริมอาหารทดแทนหญ้าทะเลในธรรมชาติในพื้นที่ จ.ตรัง และ จ.ภูเก็ต รวมถึงศึกษาแนวทางการกั้นคอก พัฒนาและเตรียมความพร้อมศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ตรัง และศูนย์ช่วยชีวิตสิรีธาร จ.ภูเก็ต
4.เตรียมสถานที่เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล เร่งศึกษานวัตกรรมการฟื้นฟูหญ้าทะเลในธรรมชาติ
ทั้งนี้ ได้มอบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน ทส. พร้อมเสนอของบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 615,163,000 บาท ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
ดร.เฉลิมชัย เปิดเผยว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (เกาะลิบง) อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อพบปะชาวเกาะลิบง และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดตรัง รับฟังรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายากในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่จังหวัดตรัง ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติงาน พร้อมมอบนโยบายด้านการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และการฟื้นฟูแหล่งอาหารของพะยูน
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เบื้องต้นกรมทะเลช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิต ด้วยการใช้อาหารเสริมแทนหญ้าทะเล พร้อมจัดเตรียมคอกอนุบาลในทะเล สำหรับดูแลพะยูนที่ป่วยและไม่แข็งแรง นอกจากนี้ ได้เร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา พื้นที่ 15 ไร่ ประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูหญ้าทะเลและเก็บตัวอย่างดินตะกอน นำมาวิเคราะห์ความเหมาะสมก่อนย้ายปลูกหญ้าทะเล มีแผนย้ายปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า บริเวณอ่าวพังงา เกาะยาวใหญ่ พบพะยูน 3 ตัว จังหวัดภูเก็ต บริเวณอ่าวปากคลอก พบพะยูน 40 ตัว บ้านป่าหล่าย พบพะยูน 2 ตัว สะพานสารสิน พบพะยูน 7 ตัว อ่าวตังเข็น พบพะยูน 7 ตัว อ่าวราไวย์ พบพะยูน 2 ตัว รวมพบพะยูนทั้งสิ้น 58 ตัว ส่วนจังหวัดตรัง บริเวณแหลมจูโหย พบพะยูน 3 ตัว ชายหาดบ้านปากคลองกะลาเสใหญ่ พบพะยูน 2 ตัว รวมพบพะยูนทั้งสิ้น 5 ตัว
ผลการสำรวจหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดพังงา สำรวจ 4,824 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,071 ไร่ จังหวัดภูเก็ต สำรวจ 3,348 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,360 ไร่ จังหวัดกระบี่ สำรวจ 23,302 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 7,670 ไร่ จังหวัดตรัง สำรวจ 23,038 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 12,380 ไร่ และจังหวัดสตูล สำรวจ 2,963 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,427 ไร่
นอกจากนี้ ได้ประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล พื้นที่เฝ้าระวังพะยูนและคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล 13 แห่ง ในการนี้จังหวัดภูเก็ตออกประกาศขอความร่วมมือดูแลเฝ้าระวัง และป้องกันผลกระทบต่อพะยูนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 4 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณช่องปากพระบ้านสารสิน บริเวณอ่าวป่าคลอก อ่าวบางโรง บริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ และบริเวณอ่าวตังเข็น