เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ที่มีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนทำร้ายตนเองจนได้รับบาดเจ็บที่ห้องพิจารณาคดีในศาลจังหวัดยะลา
เหตุการณ์นี้สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้เกี่ยวข้องในคดีที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ มีคำพิพากษา รวมตลอดถึงจำเลยทั้ง 5 คน ญาติ และเจ้าหน้าที่ศาลทุกคน รวมทั้งเมื่อมีข่าวสารเผยแพร่ออกมาพบว่า การตัดสินใจทำร้ายตนเองนั้นอาจเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการเกิดการตรวจสอบการแทรกความเป็นอิสระของตุลาการ โดยมีเอกสารจำนวน 25 หน้าเป็นหลักฐานที่สำคัญ
คดีดังกล่าวเป็นคดีอาญาที่ไม่ใช่คดีความมั่นคงที่มีจำเลย 5 คน ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นด้วยอาวุธปืนจำนวน 5 คน เหตุเกิดขึ้นที่ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561
มีการจับกุมบุคคลหนึ่งคนด้วยอำนาจกฎอัยการศึกและรับฟังคำซัดทอดจนเกิดการจับกุมบุคคลอื่นอีกจำนวนหนึ่ง
ต่อมา มีการดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยเพียง 5 คน ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการซักถามด้วยอำนาจกฎหมายพิเศษเป็นเวลานานก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ และถูกสั่งฟ้องด้วยพยานหลักฐานที่มีข้อพิรุธไม่สามารถรับฟังได้ตามหลักกฎหมาย เมื่อหัวหน้าองค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ได้เขียนคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีการกล่าวอ้างว่าถูกแทรกแซง สั่งการโดยผู้บังคับบัญชา ให้แก้ไขเป็นลงโทษประหารชีวิต 3 รายและจำคุกตลอดชีวิต 2 ราย ทำให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน คือ ท่านคณากร เพียรชนะ ทำร้ายตนเองด้วยอาวุธปืน และได้เขียนคำแถลงไว้ 25 หน้าดังกล่าว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ได้ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่า 15 ปีพบว่าประเด็นสำคัญเอกสารคำแถลงที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนจำนวน 25 หน้ามีความสำคัญแม้เป็นเพียงการกล่าวอ้างฝ่ายเดียว แต่พึงต้องนำไปสู่การตรวจสอบให้เกิดความจริงต่อสาธารณะ
เนื่องด้วยเหตุที่ว่าตามหลักกฎหมาย อำนาจตุลาการ ต้องเป็นอำนาจที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจึงจะสามารถนำพาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นอิสระเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสังคมเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ประชาชนจะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบตุลาการในเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการกลับคืนมาให้ โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. ขอให้มีคำสั่งย้ายบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำแถลงนี้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายในที่พึงมีบุคลากรจากภายนอกของศาลยุติธรรมเข้าร่วมด้วย โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ความจริงและแนวทาง การป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์การแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการดังเช่นนี้อีก
2. ขอให้มีการตรวจสอบอำนาจพิเศษในทุกรูปแบบที่ส่งผลต่อการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในคดีความมั่นคงและคดีอาชญากรรมปกติ ตามที่คำแถลงการณ์ลงวันที่4 ตุลาคม 2562 ของท่านคณากร เพียรชนะ ได้ระบุไว้เช่น การตั้งข้อหาเกินจริง การควบคุมตัวบุคคล โดยอำนาจกฎอัยการศึกแล้วนำตัวมาเป็นพยานในคดีอาชญกรรม การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีอาชกรรมและซักถามด้วยอำนาจกฎหมายพิเศษก่อนการทำสำนวนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ การรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการซักถาม รวมทั้งการมีคำสั่งให้เขียนคำพิพากษาให้ขังระหว่างอุทธรณ์ หากไม่ยอมเปลี่ยนจากคำพิพากษายกฟ้องให้เป็นลงโทษ เป็นต้น
3. บทเรียนครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ระบบตุลาการของไทยและระบบศาลยุติธรรม โดยการนำของประธานศาลฎีกาท่านใหม่ด้วยว่า เราไม่อาจข้ามผ่านปรากฎการณ์ไปได้ด้วยคำชี้แจงว่ากรณีของผู้พิพากษาคณากรฯเป็นเรื่องส่วนตัว รวมทั้งต้องตรวจสอบการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงและต้องไม่ทำให้เรื่องนี้จบลงท่ามกลางความสับสนและการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบตุลาการที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายประชาชน
Send this to a friend