POLITICS

‘ดร.กนก’ ชี้ 3 ปัญหา ‘งบปี 64’ เหลว

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ในทำนองที่ว่า ปัญหาความเดือดร้อนที่งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้พยายามแก้ไขนั้น ไม่ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชาชน ว่ามีที่มาจากสาเหตุ 3 ประการ คือ

1. ประชาชนและข้าราชการมองปัญหาเดียวกันแตกต่างกัน และมองเห็นความสำคัญและเร่งด่วนต่อปัญหาไปกันคนละทิศทาง ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวทางการวางงบประมาณต่อปัญหาไม่ตรงกับความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้ต้องทำการแก้ไขงบประมาณรายจ่ายประจำปี

“ขอยกตัวอย่าง เพื่อให้เห็นปัญหาที่แตกต่างกัน คือ กรมส่งเสริมการเกษตรเห็นว่า ความยากจนของเกษตรกรมีสาเหตุหลักมาจากความไม่รู้ของเกษตรกรในเรื่องการทำเกษตร จึงทำให้เกษตรกรปลูกพืชที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ดังนั้น แนวทางการแก้ไขจึงควรเป็นการจัดการฝึกอบรมด้านการตลาดให้กับเกษตรกรเพื่อจะได้รู้เท่าทันตลาด ในขณะที่เกษตรกรกลับมองว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดความยากจนของพวกเขาคือ ปัญหาน้ำที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี สิ่งที่เกษตรกรต้องการมากกว่าความรู้ที่ส่วนราชการมาจัดอบรมให้ คือ การมีน้ำเพื่อการทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี การมองเห็นปัญหาที่ต่างกันระหว่างเกษตรกรกับส่วนราชการต่างๆ เช่นที่กล่าวนี้ ทำให้การจัดสรรงบประมาณไปแก้ไขปัญหาไม่ตรงกัน และผลที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาที่ตั้งใจจะแก้ไข ไม่ได้รับการแก้ไข และประชาชนต้องแบกรับปัญหานั้นต่อไป”

2. ปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ของประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถใช้เหมือนกันทั้งประเทศได้

“ปัญหาความยากจนสามารถแก้ไขได้ ด้วยการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน แต่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด หรือแต่ละภาค อาจมีบริบทและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการสร้างรายได้จึงอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และแต่ละจังหวัด ยกตัวอย่าง ในพื้นที่ A อาจสร้างรายได้ด้วยการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนในพื้นที่ B อาจสร้างรายได้ด้วยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด นั่นหมายความว่า การประยุกต์วิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ ข้าราชการในพื้นที่ที่จะสามารถประยุกต์วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามเงื่อนไขและบริบทของพื้นที่นั้น เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพ และขีดความสามารถแค่ไหน”

3. ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนนั้น มีความเกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ในหลายกรม หลายกระทรวง การใช้หน่วยงานเดียวในการเข้าไปจัดการกับปัญหาไม่สามารถเกิดความสำเร็จได้ เพราะระบบเศรษฐกิจ และสังคม มีความสลับซับซ้อนมากเกินกว่าที่ส่วนราชการใดจะแก้ไขได้ตามลำพัง ด้วยความเป็นจริงเช่นนี้ การประสานให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเดียวกัน จึงเป็นความจำเป็น ดังคำกล่าวที่ว่า “แก้ปัญหาอย่างบูรณาการ”

“อุปสรรคสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ คือ กฎหมายและกฎระเบียบราชการที่ไม่เอื้อให้การบูรณาการเกิดขึ้น เช่น การใช้งบประมาณ และบุคลากรที่พร้อมกัน (ต่างเวลาและต่างพื้นที่) ทำให้การปฏิบัติราชการมีลักษณะเป็นชิ้นๆ ที่ไม่มีความสมบูรณ์ที่จะแก้ปัญหาได้ คล้ายการหาทุนสร้างโบสถ์ด้วยการทอดกฐิน ที่จะสร้างโบสถ์ได้ตามกำลังเงินที่มี และไม่สามารถกำหนดเวลาแล้วเสร็จได้”

อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีท่านนี้ ได้ให้คำแนะนำทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “งบประมาณของประเทศจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้มากกว่านี้ เมื่อโครงสร้างของระบบงบประมาณ และระบบการบริหารราชการ ตลอดจนถึงวิธีการปฏิบัติราชการของเหล่าข้าราชการ ได้รับการปฏิรูปจนสามารถเข้าถึงปัญหาที่แท้จริงของประชาชนได้ ซึ่งก็หวังเอาไว้ว่า งบประมาณที่มาจากเสียงของประชาชนในแบบล่างขึ้นบนนี้ จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้”

Related Posts

Send this to a friend