POLITICS

“ชลิตา” ยืนยันพูดตามหลักการและเสรีภาพในการแสดงความเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ไม่กังวลถูกฟ้อง มาตรา 116 พร้อมชี้แจงตามกระบวนการยุติธรรม

ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ เปิดเผยกับ The Reporters ไม่ได้เป็นกังวล กรณี กอรมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความดำเนินคดี มาตรา 116 ยืนยันว่า สิ่งที่ได้พูดในเวทีที่ จ.ปัตตานี อยู่บนหลักการที่ถูกต้อง บนพื้นฐานข้อมูลของการวิจัย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถกเถียงกันได้บนหลักการของเสรีภาพ

“มีความพยายามตีความสิ่งที่พี่พูดแบบจับแพะชนแกะ ซึ่งยืนยันได้ว่าสิ่งที่พูดอยู่ในหลักการที่ไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรง สามารถอ่านได้จากบทความที่มีการแกะเทปสัมภาษณ์ของพี่ได้เลยค่ะ”

ผศ.ดร.ชลิตา ยืนยันด้วยว่า พร้อมชี้แจงและต่อสู้ตามกระบวนการทางกฏหมาย ซึ่งส่วนตัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะมาช่วยดูคดีให้ ขณะที่ส่วนตัว ก็ยังยึดมั่นในเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามสร้างความหวาดกลัว ไม่ให้กล้าแตะรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราต้องไม่กลัว และยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง

สำหรับที่มาของการแจ้งความดำเนินคดีแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ 12 คน ที่ร่วมเวทีเสวนา ที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. มีประเด็นที่เกี่ยวช้องกับ ผศ.ดร.ชลิตา กรณีมีการพูดถึง มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ที่มีการนำไปตีความว่า ผศ.ดร.ชลิตา เสนอให้มีการแก้ไข มาตรา 1 ให้ไทยยกเลิกการเป็นราชอาณาจักร

ซึ่ง ผศ.ดร.ชลิตา ได้ถอดเทปคำพูดมายืนยันแล้วว่า เป็นเพียงการให้ความเห็นในบริบทที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะมีการถกเถียงและอภิปรายในเรื่องนี้กันได้เท่านั้น

อ่านคำบรรยายของ ผศ.ดร.ชลิตา ได้ที่นี่:
คำถอดเทปบทบรรยายของชลิตา บัณฑุวงศ์ ในเวทีเสวนา 7 พรรคฝ่ายค้าน เรื่อง “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 ที่ลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี

ขอบคุณผู้จัดที่เชิญมาในงานนี้ รู้สึกได้รับเกียรติอย่างมากที่ได้มาพบพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2559 ได้ทราบผลการลงประชามติ รธน.รู้สึกชื่นชมและภาคภูมิใจต่อพี่น้องประชาชนชายแดนใต้เป็นอย่างมากที่ส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่รับร่าง รธน.ทราบว่าหลายคนทำงานกันหนักมากในการนำเสนอข้อมูลของ รธน.ที่มันส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 3 จังหวัด โดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษาและศาสนา ตอนนั้นมีการพูดคุยเรื่องนี้กันหลังละหมาดวันศุกร์ ช่วงละศีลอด ก่อนลงประชามติมีการแปลเอกสาร รธน.เป็นภาษามลายูอักษรยาวี ทำงานกันคึกคักมาก และประสบความสำเร็จในที่สุด

วันนี้ก็เช่นกัน เราจะมาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดิฉันในฐานะนักวิชาการ เราจะช่วยพี่น้องในกระบวนการนี้ หากหลายคนดูข่าวจะทราบว่าเรามีการตั้งคณะ ครช. หรือคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะประกอบด้วยนักวิชาการ ภาคประชาชน นักศึกษา นักกิจกรรม ที่มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย จะร่วมมือกันในการรณรงค์แก้ไข รธน.ของประชาชน เฉพาะใน จชต.เรามีองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมกับ ครช.อยู่หลายกลุ่ม ตั้งแต่เครือข่ายนักวิชาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนส.จชต.), องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี, เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เราจะร่วมกันจัดเวทีในพื้นที่ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นว่าคิดอย่างไรต่อ รธน.และอยากได้ รธน.แบบไหน

ปัญหา ชจต.เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนบอกว่าสมควรเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายควรจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดิฉันอยากเน้นย้ำว่าความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผล ต้องไม่แยกออกจากประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เอื้อต่อการสร้างการมีส่วนร่วม การคุ้มครองเสรีภาพ การเปิดกว้าง และการแสดงจำนงทางการเมือง เพราะฉะนั้น ภายใต้ระบอบ คสช.5 ปีที่ผ่านมา และระบอบประยุทธในตอนนี้ ปัญหาชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้น และภายใต้ รธน.ที่สืบทอดอำนาจระบอบเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ปัญหาชายแดนใต้คืออะไร? มีผู้อธิบายว่ามันมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักที่มีน้ำหนักมาก คือผลพวงถึงความรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม ความคับข้องหมองใจ ที่รู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชนชั้นสอง กีดกันออกจากการพัฒนาต่างๆ และในช่วง 10-15 ปีมานี้ เป็นผลจากความคับข้องหมองใจจากการถูกกระทำของรัฐ ในการกวาดล้าง ควบคุมตัว ด้วยกฎหมายพิเศษ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งมาจากแนวคิดอุดมการณ์เรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ซึ่งไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอยู่จริงและดำรงอยู่

ความยาวนานของเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี 2547-2562 ที่เกิดเหตุการณ์กว่า 20,000 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 คน บาดเจ็บ 13,000 กว่าคน เป็นเหตุการณ์ที่มีความยืดเยื้อเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกี่ยวข้องกับอะไร ก็เลยทำให้คนในพื้นที่รู้สึกหวาดกลัว ระแวง และไม่รู้สึกว่าเหตุการณ์มันดีขึ้น สถานการณ์ ความไม่สงบใน จชต.มีความเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการพัฒนา สังคม ยาเสพติด ความยากจน เกลียดชัง และความแบ่งแยกระหว่างผู้คน (สถานการณ์ความไม่สงบ) ทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาที่มันซ้อนทับกันอยู่ตลอดเวลา

สถานการณ์ความไม่สงบ หากพูดในมุมของรัฐจะเห็นว่ามีแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาอยู่ 3 แนวทาง 1.ใช้กำลังทหาร ตำรวจ ในการควบคุมพื้นที่ รักษาความปลอดภัยดำเนินการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี 2.ใช้การพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิต 3.การส่งเสริมทางสังคมวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม (ส่งเสริม) การทำงานของภาคประชาชน

น่าสนใจว่าหลังจากปี 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. การแก้ปัญหาเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจที่เบ็ดเสร็จของกองทัพ แม้ว่างานด้านการพัฒนา สังคมพหุวัฒนธรรม การส่งเสริมภาคประชาสังคม ไม่ควรจะเป็นงานของความมั่นคง แต่ควรจะเป็นงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ แต่ทหารกลับมีอำนาจและมีบทบาทในทุกด้าน ด้วยกลไกของ กอ.รมน. ทำให้กองทัพมีอำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชา และดูแลทุกหน่วยงาน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) มีหน้าที่ในการอำนวยการ บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าจะรวมถึงการบูรณาการกองทัพด้วย แต่ปัจจุบันยุค คสช. ศอ.บต.กลับไปอยู่ภายใต้ กอ.รมน.

ทั้งนี้ พบว่าการแก้ปัญหาของรัฐประสบปัญหาหลายด้าน ในส่วนของการใช้กำลังปราบปรามหรือการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ พบว่ามีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน พรบ.ความมั่นคง ผลที่เกิดขึ้นคือ อับดุลเลาะ (อีซอมูซอ) และหลายคน ที่พิการและเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ หลายรายถูกจับแต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ไม่มีศักยภาพในการต่อสู้คดีได้ เข้าไม่ถึงสิทธิในการประกันตัว เช่นคดีระเบิดน้ำบูดู รวมถึงแนวทางการพัฒนาของรัฐพบว่า เนื่องจากชนชั้นนำของไทยมองว่า ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ก็จะแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ จึงพยายามพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ นำชาวบ้านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ซึ่งคนได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่เป็นชนชั้นนำ ผู้มีอิทธิพล ในขณะที่การส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมของรัฐมีข้อจำกัดที่เป็นการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐเท่านั้น มากกว่าที่จะพูดถึงความหลากหลาย สิทธิ และความเท่าเทียม

แนวทางแก้ปัญหาทั้ง 3 ของรัฐมีปัญหามาก ภาคประชาชนพยายามที่จะเสนอ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดีกว่า มีข้อเรียกร้องหลายอย่าง เช่น เรี่องการยกเลิกกฎหมายพิเศษ การปกครองรูปแบบพิเศษ เป็นต้น นี่คือสถานการณ์โดยรวม

ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตราที่พี่น้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา และศาสนา ที่พี่น้อง จชต.กังวล มันก็ยังคงอยู่ มีปัญหาสำคัญ คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวประชาชน เพราะมีการให้อำนาจแก่องค์กรอิสระต่างๆ มากมาย เหนือองค์กรที่มาจากอำนาจของการเลือกตั้ง พี่น้องลองคิดดู หลังการเลือกตั้ง เราได้ ส.ส.เมื่อมีปัญหาความเดือดร้อนทุกวันนี้ ส.ส.มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา ไปหาถึงบ้าน นำปัญหาไปพูดในสภา เราจะเห็นว่ากลไกรัฐสภาสำคัญอย่างไร แต่ รธน. นี้ กลับลดอำนาจองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

สรุปสุดท้าย ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข รธน.ใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในบริบทของ จชต.คิดว่าเราสามารถใช้เวที รธน.มาถกเถียงถึงใจกลางของปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหา จชต.ที่จริงแล้วเป็นหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้ ฉะนั้นเราต้องการรัฐที่มีความแยกย่อย ยืดหยุ่น มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ สามารถจินตนาการถึงการเมืองประเภทต่างๆได้ เช่น ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ดิฉันหวังว่าในกระบวนการแก้ รธน.เราจะมีพื้นที่จะสามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ เราจะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะถกเถียงกันในมาตราต่างๆ ใน รธน.ที่เราจะแก้ไข (ปัญหาชายแดนใต้) ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ขอบคุณค่ะ

Related Posts

Send this to a friend