PEOPLE

‘พิธา‘ : “ถึงวันนั้น ถ้าประชาชนยังต้องการ ผมจะกลับมา”

‘พิธา‘ ไม่เสียใจ แต่เสียดายที่เวลาสั้นไป หลังถูกยุบพรรค – ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยัน ทำงานพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ลั่น ถ้าวันหนึ่งประชาชนยังต้องการ ก็จะกลับมา

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Reporters เปิดเผยหลังจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ว่า ยังทำงานทางการเมืองอยู่ เปลี่ยนจากนักการเมือง เป็นคนพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งไม่ได้มีขีดจำกัดว่าต้องอยู่ในสภาฯ หรือทำเนียบรัฐบาลอย่างเดียว เพราะการเป็นประชาชนก็ทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองขาดอะไร อาจจะโหวตรัฐบาลไม่ได้ แต่ยังสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ โดยการเมืองไทยในระบบมีแรงเฉื่อยเยอะ ต้องการคนที่เข้าไปแก้ปัญหาบ้านเมือง เพื่อผลักดันแรงเฉื่อยพวกนี้เข้าไปให้ได้ ถ้าประชาชนให้เจตจำนงมา

“ไม่ได้เสียใจ แต่รู้สึกเสียดาย ที่เวลามันสั้นไปหน่อย” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนเองไม่ได้คิดว่าจะเป็น สส. หรือเป็นนักการเมืองไปตลอดชีวิต คิดว่าอยู่แค่ 10 ปีก็พอ และทำให้ทิศทางไปในที่ถูกต้องก็พอ และส่งไม้ต่อ เพื่อที่เราจะได้ทำอย่างอื่นที่เราอยากทำบ้าง แต่ก็รู้สึกว่าผ่านมาเกือบ 6 ปี เข้ามา 60% ระยะเวลาแค่นี้ ก็เสียดาย เพราะเหมือนมาได้ครึ่งทางแล้ว เสียดายโอกาสในสิ่งที่เราไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้มา

นายพิธา กล่าวว่า ตอนฟังคำวินิจฉัยของศาล ตนเองก็ไม่อยากเครียด ไม่อยากให้ดราม่ามากกว่านั้น เมื่อศาลเริ่มอ่านคำวินิจฉัย 5 นาทีแรก ก็ถือว่าทำใจแล้วว่าคงเป็นไปไม่ได้ คงไม่มีปาฏิหาริย์ ทั้งที่เรายืนยันในความบริสุทธิ์ ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายของเรา แต่ในระบบกฎหมายคงต้องเป็นเช่นนั้น แต่ตนเองยังมีสิทธิเสรีภาพที่ยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่ได้มีเจตนาที่หรือการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง หรือเซาะกร่อนบ่อนทำลายแต่อย่างใด

นายพิธา กล่าวว่าการคาดเดาผลว่าจะออกมาเป็นลบ เลวร้ายกว่าผลที่ออกมาอีก การยุบพรรคที่ผ่านมา ควรจะพอได้แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นระบบทั้งหมด อนุญาตให้มีเลือกตั้งเป็นครั้งเป็นคราว มีเลือกตั้งที่เป็นไปตามใจของชนชั้นนำ ทั้งการแบน การยุบพรรคการทำรัฐประหาร มีเครื่องมือที่จะทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่า ประโยชน์ของประเทศชาติ จะไม่ตกไปอยู่กับคนหมู่มาก เพราะคนส่วนน้อยอยากมีวิธีกุมอำนาจไว้ อนุญาตให้เลือกตั้งได้ แต่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เป็นอะไรที่น่ากังวลมาก

ส่วนระยะเวลาการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี จะคิดให้นาน ก็นาน จะคิดได้เร็ว ก็เร็ว ตอนนี้ก็ยังไม่ถอดใจ ถ้าสิ่งที่ตนเองโดนกระทำมันจบแค่นี้ตนเองก็กลับมาตอนอายุ 53 ซึ่งในช่วง 10 ปีนี้ จะหาความรู้ให้ทันโลกมากกว่านี้ เมื่อคุยกับคนที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเมืองทั้งในไทย และต่างประเทศ โลกไปไวกว่านั้นมาก รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เมื่อได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก็น่าตื่นเต้น เพราะไม่ได้เป็นนักการเมืองแล้ว ก็จะได้ฟังมากกว่าพูดเยอะ รู้สึกว่าอยากจะถามมากขึ้น และฟังรู้ว่าประเทศไทยขาดอะไรไป หากกลับมาก็จะเป็นคนที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น มีวิสัยทัศน์ที่ใหม่มากขึ้น

นายพิธา ระบุว่า ตนเองโดนกระทำมาอย่างไร ก็ยังอยากเป็น อยากไปเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากน้อง ๆ จากทั่วโลก และอยากจะสอนให้มีคนเข้าสู่การเมืองเมืองไทยเยอะ ๆ ระบบที่เป็นอยู่คนล้มล้างทำรัฐประหารได้ดิบได้ดี แต่คนที่ชนะการเลือกตั้ง ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถ้าเป็นแบบนี้แปลว่า เรายกประเทศให้กับเขาไป จึงอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาเล่นการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายที่ผ่านไปไม่นาน ก็วนกลับมาในลูปเดิม ตนเองไม่ได้กังวล เราอยากทำงานการเมืองอยู่ เตรียมตัวมาครึ่งชีวิตกว่าจะถึงวันนี้ แต่ได้ทำจริง ๆ แค่ 5 ปีกว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจกับระบบทั้งหมด

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนเองทำงานร่วมกันกับคณะก้าวหน้าอยู่แล้ว เพราะเราสนับสนุนกันในมุมที่ไม่ทับซ้อนกัน เราต้องทำงานเหมือนช้อนส้อมที่เสริมกันได้ และโปรเจคส่วนตัวก็มีเยอะ ชีวิตในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เหมือนรถรถไฟเหาะ จากยุบสภา จนถึงยุบพรรค ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่อยากบันทึกเก็บไว้ ตนเองยังบริหารความรู้สึกตัวเองด้วยการเขียน เพื่อช่วยทำให้ระบายออกมาดีกว่าที่จะให้คิดอยู่ในหัวตลอด และอีกเรื่องที่อยากเขียนคือเรื่องลูกสาวผู้แทนฯ ที่ต้องแบ่งเวลาทั้งทำงานและเลี้ยงลูก

การเข้าสู่อำนาจ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมองเห็นภาพรวมระดับโลก และในเมืองไทยแล้ว ส่วนตัวจึงมองว่า เป็นความรู้สึกหวานขม ไม่ได้มองเป็นเรื่องที่มารังแกเราส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของระบบ แต่ก็รู้สึกขมปี๋เหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าระบบแบบนี้จะมีไปอีกถึงเมื่อไหร่ แล้วจะรู้สึกว่าเราจะเลือกตั้งมาทำไม ในเมื่อเลือกมาก็ไม่ได้เป็น เราในฐานะนักการเมืองก็รู้สึก แล้วประชาชนจะรู้สึกอย่างไร กับการเลือกตั้ง ถ้าศรัทธาตรงนี้หมดลงเมื่อไหร่ ก็จะหวานหมูสำหรับคนที่ขึ้นบันไดไปสู่สังคมชั้นสูง และตัดบันไดทิ้ง ไม่ให้คนอื่นเข้าไป

“ถ้าเราจะทิ้งการเมือง การเมืองจะทิ้งเรา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคุณถึงต้องสนใจในเมือง และยังต้องอยู่กับมัน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของซีวิตเรา ถ้าเกิดเราทิ้งกันมาเมื่อไหร่การเมืองจะทิ้งเราให้ไกลที่สุดจากอำนาจ และงบประมาณ และกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม“ นายพิธา ระบุ

ส่วนจะสวนกลับหรือไม่นั้น ตนเองมองว่า ยิ่งต้องสู้ ในขณะเดียวกัน ต้องรู้เขารู้เรา ยังไม่ถึงกังวล หรือเข็ดหลาบในตอนนี้ แต่เมื่อยิงกระสุนบ่อย ๆ ก็ด้านเหมือนกัน ซึ่งต้องเตือนสติว่ามีลิมิตในการกระทำซ้ำ ๆ หากทำรัฐประหารได้เรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีคนสนใจ ก็อาจมาบ่อย ซึ่งช่วงหลัง อาจเริ่มห่างเหิน แต่ก็มีวิธีควบคุมที่เงียบกว่า เบากว่า ไม่ต้องกระโตกกระตาก ก็แสดงว่ามีราคาที่จะต้องจ่าย แต่เขาต้องหาวิธีอื่นว่าจะทำอย่างไรดี ที่จะดูเนียน ๆ กับคนไทยด้วยกัน และประชาคมโลก

นายพิธา กล่าวว่า ตนเองเป็นห่วงการเมืองตรงที่ว่าถ้าเราไม่มีความยืดหยุ่นในการเข้าใจพลวัตของสังคมในทุก ๆ เรื่องแล้ว เราอยากรักษาบางสิ่งบางอย่างไว้โดยที่หยุดเวลาไว้ บังคับให้คนที่เห็นต่างด้วยกฏหมาย และใช้ความรุนแรงใส่ มันขังจิตใจคนไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีวิธีอื่นที่จะทำให้คนยินยอมพร้อมใจกันช่วยกันรักษาสิ่งเก่า ๆ เหล่านั้นที่เรารัก และหวงแหนเหมือนกัน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรือถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ส่วนคำพูดที่ว่าถ้าลดเพดาน อาจจะไม่โดนแบบนี้ก็ได้ ตนเองไม่ได้คิดว่าผลักเพดานให้สูงขึ้นเกินเหตุ และไม่ได้เป็นคนแรกที่คิดเรื่องแบบนี้ ซึ่งมีเรื่องพูดคุยแบบนี้มาตั้งนานแล้ว และเป็นการพูดกันปกติ เป็นการแสดงความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้ต่างชาติมาต่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ดึงท่านลงมาสู่การเมือง ก็เห็นเรื่องนี้ตรงกัน ซึ่งเวลาพูดคุยกัน สามารถพูดได้ทั้งในสภา และนอกสภา แต่ถ้าไปพูดนอกสภาก็จะไม่สามารถควบคุมได้ ตนเองมองว่าหากพูดกันในสภา ก็จะเป็นเพดานที่ต่ำกว่า ก็เลยรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่เราทำแล้วเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซึ่งหลังจากนี้คงต้องหาจุดสมดุลย์ใหม่ เพราะยังมีปัญหาในเรื่องนี้อยู่ ต้องมีวิธีการหรือกระบวนการในการใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นของทุกสถาบันในประเทศไทย

สำหรับโอกาสการเลือกตั้ง 2570 ที่เพื่อน ๆ ในพรรคปราศรัยว่าต้องได้ 270 เสียงนั้น ก็ต้องวางแผนให้ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเราสร้างโอกาส และไม่รอโอกาส ต้องย้อนกลับมาว่า ถ้าได้เปรียบ ต้องใช้คะแนนเสียงเท่าไหร่ ไปดูในรายละเอียดแต่ละเขต แต่ละจังหวัด ต้องทำงานหาคนเก่ง ๆ ในพื้นที่ และนโยบายดี ๆ ในแต่ละพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ประชาชนให้ได้

“ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ประชาชนมีให้ ย้อนไปถึงความเชื่อใจ และความไว้วางใจที่มีให้กับพวกเรา ผมเชื่อว่าเพื่อน ๆ ของผม จะสามารถทำในสิ่งที่ผมพยายามที่จะทำต่อไปได้ และความไว้วางใจกับความเชื่อมั่น ผมก็อยากให้ส่งต่อให้เพื่อน ๆ ที่จะสานต่อได้ อยากให้คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องส่วนรวม ถ้าวันหนึ่งประชาชนต้องการผมอยู่ ผมก็จะกลับมา“ นายพิธา กล่าว

เรียบเรียง: สริตา เรืองจิต
ภาพ: ศุภสัณห์ กันณรงค์

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat