LIFESTYLE

ดีไอวายของใช้ จากเสื้อผ้ามือสองในบ้าน เทรนด์รักษ์โลกไม่เชยไม่เอ้าท์ใส่ได้จริง

ไม่ใช่เรื่องเชยอย่างแน่นอนสำหรับคนมีไอเดีย ในการสร้างมูลค่าให้กับของชิ้นเก่าในบ้าน เป็นไอเท็มใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบใคร สำหรับแฟชั่นตกรุ่นที่หลายคนเตรียมโหละทิ้ง อย่างเสื้อยืดเก่า ผ้าพันคอ กระเป๋าผ้าขาวม้า หรือเสื้อคอกระเช้า เสื้อลูกไม้คุณย่าคุณยาย หรือแม้แต่ผ้าถุงลายปาเต๊ะคุณแม่ ฯลฯ เพราะอันที่จริงแล้วแอคเซสเซอรี่เหล่านี้ หากนำมาปัดฝุ่นและดีไอวายเป็นของใช้ชิ้นใหม่ อาทิ กระเป๋าเสื้อยืด หรือลูกประคบนวดเพื่อสุขภาพ ที่ทำจากผ้าขาวม้า หรือนำมาประดับตกแต่งไอเท็ม ที่เราใช้อยู่เป็นประจำอย่างหน้ากากอนามัยผ้า ป้องกันโควิด-19 และป้องกันฝุ่น PM 2.5 ก็สร้างความเก๋ไก๋ให้กับผู้ใช้หน้ากากผ้า เวลาที่ออกไปนอกบ้านได้ เพราะข้อดีของหน้ากากดีไอวาย สามารถซักได้บ่อยครั้ง งานนี้หลายคนที่ยังคิดไม่ออกว่า จะทำอย่างไรกับเสื้อผ้ามือสอง หรือของใช้จำพวกเสื้อผ้าในบ้านนั้น

The Reporters ได้สอบถามไปยัง คุณบัว-วรรณประภา ตุงคะสมิต นักดีไอวาย ให้ไอเดียในการมิกซ์แอนด์แมทซ์เสื้อผ้าเก่า ให้เป็นไอเท็มชิ้นใหม่ไว้น่าสนใจ ตั้งแต่การตกแต่งหน้ากากผ้า จากเศษผ้าลวดลายฉลุของคุณยายให้ดูมีสไตล์ หรือใครที่ชื่นชอบงานฝีมือ อย่างการเย็บหน้ากากใช้เอง ก็มีคำแนะนำมาบอก เพียงแค่มีอุปกรณ์สำคัญ ในการตัดเย็บหน้ากากผ้าใช้เอง ในช่วงที่แมส์กขาดแคลน อย่าง “ผ้ามัสลิน” ซึ่งหลงเหลืออยู่ในตู้ หรือใครที่มีไอเดียด้านศิลปะอยู่บ้าง และชื่นชอบการแต่งตัวสไตล์อัพไซเคิ้ล (Upcycle) หรือการนำขยะกระทั่งวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาดีไซน์ให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่า เช่น กระโปรงยีนส์ตัวเก่า หรือเสื้อยีนส์ ที่มิกซ์แอนด์แมทซ์ กับเศษผ้าถุงปาเต๊ะคุณยาย บวกกับเศษผ้าขาวม้าคุณตาลงไปอีกนิด ก็สร้างแฟชั่นที่ดูดีได้ไม่เหมือนใครแล้ว

วรรณประภา ให้ข้อมูลว่า “ ก่อนที่จะนำเสื้อผ้ามือสอง หรือเสื้อผ้าที่เราไม่ใช้แล้ว มาดีไซน์ให้เป็นแฟชั่นหรือของใช้ชิ้นใหม่นั้น ซึ่งบางครั้งเสื้อผ้าเหล่านี้มักเก็บอยู่ในลัง ก็แนะนำให้นำมาทำความสะอาดก่อน ทั้งนี้รูปแบบของการดีไอวายเสื้อผ้าเหล่านี้ กับผู้ที่ใส่หน้ากากอนามัยผ้า 2 ชั้นเป็นประจำ เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 สามารถใช้ในการประดับตกแต่งภายนอกเข้ามาช่วยได้ เช่น การนำเสื้อลูกไม้คุณยาย มาตัดให้มีลักษณะเป็นเส้นยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ประมาณ 6 เส้น จากนั้นเย็บติดกับหน้ากากอนามัยผ้า ในลักษณะพาดตามยาวของหน้ากากอนามัย โดยเย็บเรียงกันทีละเส้นทีละบรรทัด ( 6 บรรทัดเรียงกัน) และเพิ่มความเก๋ด้วยการสลับสีของเสื้อลายฉลุ หรือเลือกเสื้อลายฉลุที่มีสีสัน (สีเขียวอ่อน สีชมพูอ่อน สีฟ้าอ่อน) กับหน้ากากผ้าสีขาว เป็นต้น ก็จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับหน้ากากอนามัยผ้า เพื่อให้น่าสวมใส่มากยิ่งขึ้น หรือจะนำผ้าขาวม้า หรือเสื้อลายผ้าขาวม้า ที่มีลวดลายสวยงาม มาเย็บให้เห็นดอกไม้ผ้าเล็กๆ และนำมาเย็บติดกับหน้ากากอนามัยผ้าสีขาว ก็จะทำให้หน้ากากผ้าดูน่ารักขึ้นไปอีก

ดีไซน์หน้ากากผ้ารูปทรงแปลกตา ตกแต่งให้สวยงามด้วยเศษผ้าเหลือใช้

นอกจากการตกแต่งหน้ากากอนามัยผ้าที่มีแล้ว ใครที่มีเวลาว่างและต้องการ เย็บหน้ากากอนามัยผ้าสำหรับกันฝุ่น PM2.5 ใช้เองนั้น ก็มีคำแนะนำสำหรับการตัดเย็บหน้ากากอนามัย ด้วยผ้าฝ้ายมัสลิน เนื่องจากเป็นผ้าที่เหมาะ สำหรับทำหน้ากากอนามัย เนื่องจากสามารถป้องกันโควิด-19 และมีเส้นใยที่สามารถ กันอนุภาคขนาดเล็กได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องใช้ผ้ามัสลินเย็นซ้อน 2 ชั้น จึงจะสามารถกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ โดยสามารถดีไซน์หน้ากากอนามัยผ้า ให้เป็นรูปทรงน่ารัก เช่น “หน้ากากผ้ารูปผีเสื้อ” และนำสติ๊กเกอร์รูปผีเสื้อ เย็บทับลงไปบนหน้ากากอนามัยทรงผีเสื้ออีกชั้น ก็เป็นหน้ากากอนามัยที่สวยงามแปลกตาไม่ซ้ำใคร ที่สำคัญยังช่วยกันฝุ่นละอองได้เช่นกัน

หรือดีไซน์ให้เป็น “หน้ากากอนามัยทรงลูกอม” (เย็บผ้ามัสลิน 2 ชั้นประกบกันสำหรับทำเป็นหน้ากากอนามัย) นอกจากนี้สามารถนำเศษผ้า อย่างผ้าลายฉลุสีพลาสเทลอ่อน จากเสื้อลูกไม้คุณยาย หรือเศษผ้าขาวม้าสีสันสดใส มาเย็บดีไซน์บริเวณปีกด้านข้าง ของหน้ากากอนามัยทรงลูกอม ซึ่งเป็นบริเวณที่แก้มทั้งสองข้างของผู้สวมใส่ ให้ดูสวยงามคล้ายกับลูกอมจริงๆ เพราะหน้ากากอนามัยผ้านั้น ไม่จำเป็นต้องดีไซน์ให้เป็นสี่เหลี่ยมเสมอไป แต่สามารถพลิกแพลง ให้ด้วยสวยงามน่ารักได้ สำหรับวิธีการเย็บหน้ากากอนามัยผ้า อ้างอิงมาจากข้อมูล ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุไว้ดังนี้

วิธีทำหน้ากากอนามัยจากผ้าฝ้ายมัสลิน

วัสดุอุปกรณ์

1.ผ้าฝ้ายมัสลิน ที่เหมาะใช้ทำหน้ากากอนามัย

2.ยางยืดสำหรับทำสายคล้องหู ยาว 18 เซนติเมตร จำนวน 2 เส้น

3.กรรไกร เข็มด้าย จักรเย็บผ้า ไม้บรรทัด สีเขียนผ้า เข็มหมุด

วิธีทำหน้ากากอนามัยผ้าฝ้ายมัสลิน

1.ใช้ไม้บรรทัดและสีเขียนผ้า วัดผ้าให้ได้ขนาด กว้าง 16 เซนติเมตร ยาว 19 เซนติเมตร และตัดตามขนาด จำนวน 2 ชิ้น

2.นำผ้าที่ตัดไว้แล้วมาวางประกบกัน โดยหันหน้าผ้าชั้นนอกชนกัน เย็บโดยรอบและเว้นระยะห่างจากริมผ้าไว้ประมาณครึ่งเซนติเมตร และเย็บติดปลายยางยืดเข้าไปด้วย โดยให้ยางยืดอยู่ด้านในระหว่างผ้าทั้ง 2 ชิ้น

3.กลับตะเข็บผ้าและเย็บสอยปิดริมผ้าที่เว้นไว้ให้เรียบร้อย

4.วัดผ้าออกจากกึ่งกลางผ้าออกมาข้างละ 1.5 เซนติเมตร

5.จับจีบทวิส โดยให้มาชนกันตรงกึ่งกลางผ้า ใช้เข็มหมุดตรึงไว้ และเย็บโดยรอบ เว้นระยะห่างจากริมผ้าประมาณครึ่งเซนติเมตร

เปลี่ยนขยะจากผ้าในบ้านเป็นของใช้รักษ์โลก

นอกจากนี้ยังสามารถนำเสื้อยืดตัวเก่า มาดีไซน์ให้เป็น “กระเป๋ารักษ์โลก” เริ่มจากการนำเสื้อยืดมาวาง จากนั้นใช้ดินสอร่างบริเวณไหล่และใต้คอเสื้อ ให้เป็นลักษณ์โค้งขึ้น ซึ่งคล้ายกับบริเวณด้านบนของถุงหิ้วทั้งสองข้างของถุง จากนั้นใช้กรรไกรตัดบริเวณโค้งขึ้นดังกล่าวที่วาดไว้ (ตัดคอเสื้อออก) เพื่อให้เป็นหูหิ้วของตัวกระเป๋า จากนั้นใช้กรรไกรตัดบริเวณชายเสื้อ ให้มีลักษณะเป็นช่องขนาดเล็กเรียงต่อๆกัน (เสื้อที่ถูกตัดเป็นช่องเล็กๆเรียงกัน จะนำมาผูกติดกันสำหรับเป็นก้นกระเป๋า) ซึ่งกระเป๋าทรงนี้ไม่จำเป็นต้องเย็บแต่อย่างใด ใช้การผูกแทน ส่วนผ้าพันคอที่มีสันสดใส ก็สามารถนำมา “ผ้าผูกผม” หรือทำเป็น “ผ้าโพกศีรษะ” ก็จะช่วยเพิ่มสไตล์การแต่งตัวให้ดูน่ารักไปอีกแบบ ส่วนผ้าขาวม้านั้น สามารถนำมาห่อลูกประคบให้มีสีสันสวยงาม หรือใครที่ทำสมุนไพรลูกประคบใช้เอง ก็สามารถใช้ “ผ้าขาวม้าห่อสุมนไพร” เพื่อนำมานวดผ่อนคลายก็ได้เช่นกัน คือทั้งได้ประโยชน์และสร้างสวยงามน่าใช้ ให้กับลูกประคบทำมือ ที่ได้จากเสื้อผ้าเหลือใช้ในบ้าน

คนแต่งตัวมีสไตล์ ไม่พลาดดีไอวายเสื้อผ้าเก่า สู่แฟชั่นอัพไซเคิ้ล(Upcycle) ที่ดูดีไม่ซ้ำใคร

ใครมีกระโปรงยีน หรือเสื้อยีนตัวเก่า สามารถนำเศษผ้าในบ้านอย่าง เศษผ้าถุงปาเต๊ะคุณยาย บวกกับเศษผ้าขาวม้าคุณตา มาดีไซน์ให้เป็นกระโปรงตัวใหม่ ที่ไม่มีใครเหมือน ด้วยการตัดบริเวณชายกระโปรงตัวเก่าให้สั้นลง หรือตัดชายกระโปรงยีนให้มีลักษณะเป็นแฉก หรือเป็นริ้ว จากนั้นนำผ้าถุงปาเต๊ะ หรือผ้าลูกไม้ที่ดีไซน์ทันสมัย มาเย็บลงไปบริเวณส่วนกระโปรงที่ตัดทิ้งไป ก็จะได้กระโปรงตัวใหม่ที่มีความพิเศษคือ มีทั้งในส่วนของกระโปรงที่เป็นยีน และส่วนที่เหลือก็มีเศษชิ้นส่วนของผ้าถุงปาเต๊ะ หรือผ้าลูกไม้สีขาว ก็ช่วยเพิ่มความงามและน่าสนใจ ให้กับกระโปรงแฮนด์เมดดังกล่าว ช่วยให้น่าสวมใส่และไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้ยังสามารถนำกางเกงยีน หรือเสื้อยีนมาดีไซน์ให้มีลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นแฟชั่นที่เรียกกันว่าอัพไซเคิ้ล (Upcycle)นั่นเอง หรือการนำขยะกระทั่งวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาดีไซน์ให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่า เพื่อสร้างแฟชั่นที่ดูดีไม่เหมือนใคร

ดีไอวายของจากวัสดุเหลือใช้ไม่ใช่เรื่องเชย ถือเป็นงานฝีมือฝึกความคิดสร้างสรรค์ลูกหลาน

“การที่เราดีไซน์หน้ากากผ้าใช้เอง หรือตกแต่งหน้ากากผ้าที่มีให้สวยงาม ส่วนตัวแล้วบัวคิดว่าไม่ใช่เรื่องเชยค่ะ แต่มองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น และเราสามารถใช้ประโยชน์กับมันได้จริง ถ้าพูดถึงหน้ากากอนามัยทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตอนนี้เราใช้กันเป็นปกติทุกวัน ทั้งกันโควิด-19 และกันฝุ่น PM 2.5 ไปด้วยในตัว มันจึงไม่ใช่เรื่องล้าสมัย หรือทำไมเราต้องมานั่งดีไอวายหน้ากากอนามัย ที่สำคัญหากเป็นหน้ากากอนามัยที่เราทำเอง เราจะดีไซน์ให้ดูน่ารักสวยอย่างไรก็ได้ ดังนั้นมันจึงอยู่ที่สไตล์ของเราค่ะ ที่สำคัญพ่อแม่ยังสามารถพลิกแพลง กิจกรรมดีไอวายหน้ากากอนามัย หรือของใช้ชนิดต่างๆที่ได้จากเสื้อผ้ามือสอง เป็นกิจกรรมครอบครัวได้เช่นกัน เช่น หากลูกหลานมีหัวทางด้านศิลปะ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ลูกช่วยเลือกสี หรือจับคู่สีของเศษผ้าที่จะใช้ในงานฝีมือ โดยที่เด็กๆไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่สอนเรื่องการแชร์ไอเดียในการทำงานเป็นทีมเวิร์ค หรือฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กไปในตัว และยังช่วยปลูกฝังการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าค่ะ”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat