สภาพัฒน์ ชี้ คนไทยมีแนวโน้มโสดมากขึ้น เหตุค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป-ทำงานหนัก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เผยคนไทยมีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น โดย 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นคนโสด ขณะที่กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรในพื้นที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ปัจจัยมาจากค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง ความคาดหวังที่ไม่เหมือนกัน โอกาสในการพบผู้คนน้อยเนื่องจากต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาทำกิจกรรมที่พบผู้คน รวมถึงนโยบายที่ยังไม่ครอบคลุมความต้องการของคนโสด
สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 พบว่าประชากรไทยมีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประเด็นท้าท้ายที่สำคัญต่อเป้าหมายการเพิ่มประชากรของไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีลูกโดยมีเป้าหมายไปที่คนมีคู่เพื่อแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2566 พบว่า 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นคนโสด มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 23.9 ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) พบว่ามีคนโสดอยู่ที่ร้อยละ 40.5 สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 35.7 โดยกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรในพื้นที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ร้อยละ 50.4 ส่วนกลุ่มคนมีคู่ยังพบว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น สะท้อนจากคนที่แต่งงานแล้วที่มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 57.9 อยู่ที่ร้อยละ 52.6 ขณะที่จำนวนการหย่าร้างเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.0 จากปี 2560
สำหรับปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสดประกอบด้วย 4 ด้าน
1.ค่านิยมทางสังคม ซึ่งปัจจุบันค่านิยมการใช้ชีวิตคู่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมที่หลากหลาย ทั้งกลุ่ม SINK (Single Income, No Kids) หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก เน้นใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง, กลุ่ม PANK (Professional Aunt, No Kids) หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้/อาชีพการงานดีและไม่มีลูก เน้นดูแลหลานและเด็กในครอบครัวรอบตัว และกลุ่ม Waithood กลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยการมีความรักต่อไป เนื่องจากความไม่พร้อม/ไม่มั่นคงในสถานะทางเศรษฐกิจ มองว่าการแต่งงานในขณะที่ยังไม่พร้อมจะเป็นการลดโอกาสอื่น ๆ ที่อาจเข้ามา
2.ปัญหาความต้องการ/ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน (The Mismatch Problem) คนโสดบางส่วนมีมาตรฐานในการเลือกคู่สูงขึ้น ทาให้มีโอกาสเจอคนโสดที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการได้ยาก ขณะที่งานของ Hwang (2016) ระบุว่า ประเทศในทวีปเอเชียส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมคาดหวังต่อผู้หญิงสูง โดยเฉพาะภายหลังการแต่งงานที่ผู้หญิงต้องมีบทบาททั้งในบ้านและนอกบ้าน ทำให้ผู้หญิงบางส่วนเลือกจะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น
3.โอกาสในการพบปะผู้คน จากผลการจัดอันดับ Best and Worst Cities for Work – Life Balance ปี 2565 ของบริษัท Kisi37 พบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ชี้ให้เห็นว่าการที่คนโสดต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานทำให้ไม่มีโอกาสในการมองหาคู่อย่างจริงจัง สอดคล้องกับทิพวรรณ ศิริสัมพันธ์ (2562) ที่ระบุว่าสาเหตุที่ผู้หญิงเลือกครองตัวเป็นโสดมากขึ้นมาจากความไม่สมดุลระหว่างเวลาการทำงานและการสร้างครอบครัว ซึ่งไม่สามารถให้ความสำคัญไปพร้อมกันได้
4.นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนโสดได้เรียนรู้และพัฒนาความสัมพันธ์กัน แต่เหตุผลที่ยังเป็นโสด คือ ยังไม่เจอคนที่ใช่ ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสได้พบเพื่อนใหม่ และมีภาระมาก อีกทั้งนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมา เน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนโสดอีกมากที่อาจอยากมีคู่ แต่มีอุปสรรคและข้อจำกัดที่ทำให้เป็นโสด ซึ่งสามารถดำเนินการสนับสนุนให้คนมีคู่ได้ดังนี้
1.สนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสดให้เข้าถึงกันมากขึ้น
2.ส่งเสริมการมี Work-Life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ช่วยให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น เพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบและพบเจอคนที่มีความชอบลักษณะเดียวกันมากขึ้น
3.ยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้
4.การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนโสดได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย