LIFESTYLE

แนะเทคนิคเลือก “แต่งไทย” ไปลอยกระทง

ลอยกระทงปีนี้ อาจมีหลายท่านที่กำลังเล็งจะ “แต่งไทย” ไปลอยกระทง หากยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะแต่งอย่างไร สไตล์ไหน จะจัดชุดไทยแบบพระราชนิยมเต็มชุด หรือจะแค่หยิบผ้าไทย มามิกซ์แอนด์แมตช์ ตามสไตล์ดี The Reporters ได้รวบรวมคำแนะนำมาให้ได้ลองอ่านก่อนตัดสินใจเลือกเอาท์ฟิตวันลอยกระทง

ครูลิลลี่อ.กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูสอนวิชาภาษาไทยชื่อดัง ที่ชื่นชอบการแต่งกายด้วยผ้าไทย ให้ข้อมูลกับเราว่า “การแต่งกายไปลอยกระทงที่ดีที่สุดนั้น อันดับแรกให้ดูกาลเทศะ เช่น หากไปลอยกระทงกับคู่รัก ก็ไม่ควรสวมชุดไทยที่จัดเต็ม และสวมเครื่องประดับ เช่น เกี้ยวติดผม สร้อยเพชร หรือ ใส่สไบ เพราะนั่นอาจจะไม่เข้ากับสิ่งแวดล้อมและสถานที่ที่เราไป แต่แนะนำให้ ใส่ผ้าไทย ไปลอยกระทงจะเหมาะสมกว่า เช่น หากเราเป็นคนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ ก็แนะนำให้ใส่ผ้าไทยประจำถิ่น เช่น ผู้ชายเสื้อม่อฮ่อมกับกางเกงยีนส์ หรือกางเกงผ้า ส่วนผู้หญิงสามารถใส่เสื้อพื้นเมืองสไตล์ชนเผ่า กับกระโปรง หรือ กางเกงยีนส์ ก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่จังหวัดอะไร และมีผ้าประจำท้องถิ่นอะไรโดยนำมามิกซ์แอนด์แมทซ์ ให้เข้ากับแฟชั่นปัจจุบันที่ใส่ได้จริงทำให้ดูดีไปอีกแบบ”

“อย่าลืมว่าการนุ่งผ้าไทย นอกจากไม่ตลกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมชุมชน ในการผลิตผ้าในท้องถิ่นอีกด้วย และยังคงมีกลิ่นอายความเป็นไทยอีกเช่นกัน หรือหากหนุ่มสาวๆ ใน กทม.ที่ไปลอยกระทงสะพานพระราม 8 ก็สามารถนุ่งผ้าไทยที่สุภาพ และยังคงความเป็นไทย อย่างการใส่โจงกระเบนสำเร็จรูป ที่สามารถใส่คู่กับรองเท้าผ้าใบ ส่วนท่อนบนให้สวมเสื้อยืดสีเรียบ ทั้งหญิงและชาย เพียงเท่านี้ก็เป็นแฟชั่นลอยกระทง ที่ไม่ลืมความเป็นไทยแล้ว ”

อ.กิจมาโนชญ์ บอกอีกว่า สำหรับการแต่งกายด้วย “ชุดไทยโบราณ”เพื่อไปลอยกระทงนั้น หากสถานที่จัดงานต้องการสะท้อนความเป็นไทยอย่างแท้จริง เช่น งานลอยกระทงที่ จ.สุโขทัย ที่มีการอนุรักษ์เรื่องการแต่งชุดไทย ผู้ที่ไปร่วมงานสามารถนุ่งชุดไทย พระราชนิยมทั้ง 8 แบบ ไปร่วมงานได้ พูดง่ายๆ ว่าสามารถใส่ชุดไทยแบบจัดเต็มที่ได้ ทั้งการสวมชฎา ห่มสไบ หรือใส่เกี้ยวติดผมได้ แต่ไม่ควรเลือกชุดไทยที่มีลักษณะเป็นแขนยาว เพราะอาจทำให้รู้สึกอบอ้าวได้ เนื่องจากมีผู้ไปร่วมงานจำนวนมาก หรือสามารถเลือกแต่งกายด้วยชุดไทยสไตล์กึ่งละครได้เช่นกัน เนื่องจากทุกคนที่ไปร่วมงานลอยกระทง ที่สืบสานประเพณีดังกล่าว แต่งกายด้วยชุดไทย รวมถึงแม่ค้าที่ไปจำหน่ายสินค้าในงาน ก็นุ่งชุดไทยและใส่สไบเช่นเดียวกัน 

ครูลิลลี่ กล่าวว่า “สำหรับทริคการแต่งชุดไทย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศเช่น การจัดงานลอยกระทงย้อนยุคในจังหวัดต่างๆ ที่จัดในโบราณสถานเก่าแก่ เช่น เจดีย์เก่า วัดเก่า หรือแม้แต่งานลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ ที่ จ.สุโขทัย แนะนำว่าเนื่องจากประวัติศาสตร์ของ จังหวัดสุโขทัยมีความเก่าแก่ จึงควรเน้นเป็นชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบ (ชุดไทยเรือนต้น,ชุดไทยจิตรลดา,ชุดไทยอมรินทร์,ชุดไทยบรมพิมาน,ชุดไทยจักรี,ชุดไทยจักรพรรดิ,ชุดไทยดุสิต,ชุดไทยศิวาลัย) โดยเลือกชุดไทยที่ไม่ใช่แขนยาว หรือ ชุดไทยกึ่งละครที่มีการประยุกต์ อย่างที่แนะนำไป เช่น มีการห่มสไบ ใส่เกี้ยวได้ ส่วนชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 5 หรือ สมัยรัตนโกสินทร์ ชุดไทย เช่น นุ่งโจงกระเบนกับเสื้อลูกไม้แขนพอง จะเหมาะกับงาน หรือ กิจกรรมที่อนุรักษ์ความเป็นไทย ที่จัดในสถานที่ เช่น บ้านโบราณสไตล์เรือนปันหยา เป็นต้น”

ขณะที่ เล็ก-ณัฏฐ์ มั่งคั่ง ดีไซน์เนอร์แบรนด์ Kloset ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า “เนื่องจากการลอยกระทงนั้น จำเป็นต้องขึ้นลงท่าเรือ ดังนั้นหากใส่ชุดไทยไปงาน ควรเลือกชุดที่ช่วยเพิ่มความทะมัดทะแมง เช่น ชุดไทยที่เป็นลักษณะของการใส่โจงกระเบน โดยเฉพาะสุภาพสตรีหากเลือกชุดไทย ที่เป็นการนุ่งผ้าซิ่นอาจจะไม่สะดวกเวลาที่ต้องขึ้นลงท่าเรือ แต่โดยส่วนตัวมองว่าสำหรับคุณสาวๆนั้น จริงๆ แล้วการใส่ผ้าไทยไปงานลอยกระทงเป็นการแต่งกายที่เหมะสม เพราะไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยเฉพาะการมิกซ์แอนด์แมทซ์ท่อนบนที่ทำผ้าไทย ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย เช่น เสื้อผ้าไหมแขนกุดทรงครอบ หรือเสื้อแขนกุดลายผ้าขาวม้า ส่วนท่อนล่างก็สามารถใส่เสื้อผ้าที่แฟชั่น อย่างที่หลายคนชอบชื่น ไม่ว่าจะเป็นกระโปรง กางเกง กางยีนส์ เช่น แฟชั่นที่ ลิซ่า วงแบล็กพิงค์ ใส่ไปทำบุญที่วัด โดยสามารถเลือกใส่เสื้อ ที่ทำจากผ้าไทยสไตล์ดังกล่าวกับ กระโปรงยีนส์ หรือกระโปรงผ้า ทั้งสั้นและยาวที่เรามีอยู่ เป็นต้น”

“เพราะการเลือกใส่ชุดไทยแบบจัดเต็ม ไปงานลอยกระทงนั้น จำเป็นต้องเลือกให้เข้ากับงาน เช่น หากเป็นสถานที่ที่จัดขึ้น เพื่ออนุรักษ์ประเพณีลอยกระทงโดยเฉพาะ เช่น งานที่จัดในจังหวัดสุโขทัย หรือ การลอยโคมยี่เป็งที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแต่งชุดไทยหรือชุดพื้นเมือง ก็สามารถเลือกแต่งชุดไทย หรือชุดพื้นเมืองไปร่วมได้ เพราะถือเป็นการแต่งกายที่ไม่เยอะจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ยังเป็นประเพณีนิยม ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่ทั้งนี้หากเป็นงานลอยกระทง เช่น จัดในมหาวิทยาลัย การใส่ชุดไทยอาจ จะไม่เข้ากับสถานที่มากนัก ดังนั้นการมิกซ์แอนด์แมทซ์ผ้าไทย เหมือนเช่นเวลาที่เราใส่ไปวัด อันนั้นจะเหมาะสมกว่า โดยเฉพาะการนุ่งผ้าไทยครึ่งท่อน หรือ ใส่เฉพาะท่อนบนหรือท่อนล่าง โดยที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นแฟชั่นปกติที่เราใส่ในชีวิตประจำวัน ก็ช่วยอนุรักษ์ความเป็นไทยเช่นกันครับ”

ดีไซน์เนอร์แบรนด์ Kloset บอกอีกว่า หากพูดถึงข้อห้ามในการสวมชุดไทย ไปงานลอยกระทง เช่น สถานที่ที่จัดงานขอขมาแม่คงคา เพื่ออนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมนั้น ประกอบกับชุดไทยมีหลายระดับ ดังนั้นไม่แนะนำให้ใส่ชุดไทยที่มีลักษณะเป็นชุดตะเบงมาน หรือ ใส่ผ้าคาดอกและนุ่งโจงกระเบนไปงาน เพราะงานลอยกระทงเป็นประเพณีรื่นเริง ดังนั้นจึงไม่ควรใส่ชุดไทยสไตล์ออกรบไปงาน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat