ของสะสมราคามิตรภาพ งานอดิเรกสร้างคุณค่าทางใจคนรักของเล่นมีเรื่องเล่า
ปรบมือดังๆให้กับ “ของสะสม” ที่หลายคนมี เพราะถือได้ว่าเป็นงานอดิเรก ที่ดีและมีประโยชน์ ต่อคนทุกเพศทุกวัย เพราะช่วยเพิ่มความสุข และเสริมสร้างคุณค่าทางใจให้กับนักสะสม ที่เริ่มจากความชอบส่วนตัว กระทั่งเก็บเล็กผสมน้อย จนได้ของชิ้นที่รักมาไว้ในครอบครอง เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิ่งที่เก็บสะสมไว้กลายเป็นของที่มีคุณค่า ใครเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ยกตัวอย่างของเล่นพื้นบ้านโบราณ ที่เก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ไม่เพียงเป็นพื้นที่สะสมของเล่นพื้นบ้าน แต่ยังเชื่อมโยงด้านการศึกษา แล ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังเชื่อมโยงของเล่นในปัจุบัน เข้าไว้ด้วยกันกับของเล่นยุคเก่า ในแง่ของวิธีคิดและการออกแบบ ที่ต่างกันในแง่ของวัสดุที่ใช้ทำของเล่นยุคใหม่ กับของเล่นยุคก่อนนั่นเอง
ที่สำคัญของสะสมนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นของเก่าเสมอไป หากแต่เป็นความชอบส่วนตัว เพียงระยะเวลา 5-10 ปี ก็ถือเป็นของสะสมได้เช่นกัน และปัจจุบันมีของเล่นสไตล์แอดเวนเจอร์ ที่กลายเป็นของสะสมของคนดังที่มีกำลังซื้อ กระทั่งเป็นข่าวว่ากลุ่มคนสะสมโมเดลของเล่นดังกล่าว ถูกโกงเงินจากการสั่งซื้อสินค้า ผ่านทางโลกออนไลน์ เพื่อให้ของสะสมกลายเป็นงานอดิเรก ที่เสริมคุณค่าทางใจให้กับเจ้าของ ได้อมยิ้มอย่างมีความสุข
The Reporters ได้สอบถามไปยัง “วีรวัฒน์ กังวานนวกุล” ภัณฑารักษ์ และผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์เล่นได้” หรือ “โรงเล่นเรียนรู้” จ.เชียงราย อ.แม่สรวย มาให้ความรู้เกี่ยวกับหลักในการสะสม ของนักสะสมรุ่นใหม่และรุ่นเก่า เพื่อเป็นไอเดียในการใช้งานอดิเรกนี้ เพื่อเพิ่มความสุขทางใจ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของเล่นสไตล์แอดเวนเจอร์ ที่ทำมาน้อยชิ้น และเสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกง จากการสั่งซื้อสินค้าไว้น่าสนใจ
วีรวัฒน์ กล่าวว่า “ ในมุมของผู้ที่อยู่ในแวดวง ของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเอกชน โดยการเก็บสะสมรวบรวมของเล่นโบราณมากกว่า 100 ชนิด คิดว่ามันมีมูลค่างทางใจ และการที่ผมสะสมของเล่นโบราณมากกว่า 20 ปีนั้น เพราะชอบในเสน่ห์ของทำมือ และได้ชวนเด็กๆมาเรียนรู้การทำของเล่นพื้นบ้านด้วยกัน ในทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ส่วนวันจันทร์-วันศุกร์เปิดให้โรงเรียนที่สนใจ เข้าศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้าน โดยเราดำเนินงานผ่าน 3 ภารกิจ คือเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเล่นโบราณ การรักษาของเก่า และจัดให้มี 1 ห้องสำหรับเป็นพื้นที่เล่นของเล่น”
“ดังนั้นของเล่นที่สะสมไว้ ถือว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องของการศึกษา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับของเล่นในปัจจุบัน หมายความว่าของเล่นในยุคใหม่นั้น ก็ได้นำวิธีคิดและการออกแบบของของเล่นยุคเก่า มาใช้ดีไซน์ของเล่น แต่แตกต่างกันในแง่ของวัสดุที่ใช้ทำของเล่นครับ เช่นของเล่นสมัยก่อนจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ มาทำเป็นของเล่น เช่น ลูกข่าง สมัยก่อนจะใช้เมล็ดสบ้ามาทำ แต่ปัจจุบันใช้ไทเทเนี่ยมทำลูกข่างเป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าของเล่นสมัยก่อน ของเด็กชนบทนั้น ไม่จำเป็นต้องแพง ขอแค่เล่นสนุก และแม้ว่าเด็กและผู้ใหญ่จะมีมุมมอง เกี่ยวกับของเล่นที่แตกต่างกัน แต่ของเล่นพื้นบ้าน จะทำให้ผู้เล่นมองโลกในแง่ของความอ่อนโยน ไม่ใช่ของเล่นราคาสูง ดังนั้นของเล่นจึงเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ดังนั้นหากเราต้องการให้วัฒนธรรมของเล่นยังคงอยู่ ของเล่นจะต้องไม่แพงและจับต้องได้ อีกทั้งเมื่อเล่นแล้วรู้สนุก นั่นจึงทำให้ของเล่นกลายเป็นของสะสมที่ทรงคุณค่า และส่งความรู้ วิถีชีวิต ประเพณีการเล่นของคนรุ่นก่อน ไปสู่เด็กรุ่นใหม่”
นิยามของนักสะสม ตอบตัวเองได้ซื้อเพราะอะไร-ของสะสมไม่จำเป็นต้องราคาแพง
“ทั้งนี้เคสของคนดังรักการสะสมหุ่นยนต์ ที่มีกระแสในโลกออนไลน์ ผมมองว่าเป็นกลุ่มผู้ที่กำลังซื้อระดับ A+ หรือมีฐานนะดี ประกอบของเล่นแนวแอดเวนเจอร์ที่สะสมนั้น ผลิตมาน้อย หรือบางชิ้นก็เป็นสินค้าทำเลียนแบบของเก่าก่อนหน้า แต่เมื่อผลิตมาน้อยคนจึงอยากครอบครอง ดังนั้นถ้าเราเป็นกลุ่มของคนทั่วไป แนะนำว่าให้สำรวจที่กำลังทรัพย์ของเรา และต้องบอกให้ได้ว่าเราซื้อของเล่นเพื่อสะสมนั้น เราซื้อเพราอะไร เพื่อหลักของการสะสมนั้น ต้องเริ่มจากความชอบ ความสุนก ที่สำคัญต้องสะสมแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลังทรัพย์ของเรา ที่สำคัญอย่าติดกับดักของสะสมชิ้นนั้นผลิตมาน้อย แต่ให้เน้นของที่เราชอบและราคาไม่แพงจะดีที่สุด อีกทั้งค่อยๆเก็บออมเงินเพื่อซื้อ พูดง่ายๆว่าถ้าชอบจริงๆให้ดูที่กำลังซื้อ อย่ามองที่มูลค่าเป็นหลัก ที่สำคัญต้องไม่ตามกระแส ยกเว้นว่าเราจะซื้อเพื่อปั่นราคา หรือนำไปจำหน่ายต่อ ซึ่งจัดอยู่ในแง่ของการทำธุรกิจทั้งนี้ก็สามารถซื้อได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นลงทุนไม่ใช่นักสะสม เพราะของสะสมอาจจะไม่เน้นขาย”
“ตอนที่ผมยังเป็นเด็กเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา และโตมากับแสตมป์ ดังนั้นของสะสมของตัวเองจึงเป็นแสตมป์เก่าที่ใช้แล้ว แต่เมื่อโตขึ้นรู้จักหางานพิเศษทำหลังเลิกเรียน และมีรายได้เล็กๆน้อยๆ ผมก็เริ่มสะสมแสตมป์ที่เป็นคอลเลคชั่น ออกมาใหม่ๆครับ ดังนั้นแนะนำว่าอย่าติดกับดักของราคาและการผลิตมาน้อยเพื่อหล่อใจนักสะสมครับ”
ปรับโหมดนักสะสมสู่การจำหน่ายของเก่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก่อเกิดการเรียนรู้สิ่งที่เก็บ
“เราจะสังเกตว่ามีนักสะสมหลายท่าน มีการไลฟ์สดเพื่อจำหน่ายของเก่า โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่การซื้อของออนไลน์มาแรง ทั้งนี้ผมมองว่านักสะสม อาจจะมองว่าเมื่อตัวเองอายุมาก อาจจะไม่สามารถดูแลของสะสมที่มีได้ ดังนั้นถ้าให้คนที่ยังแข็งแรง รับไปดูแลต่อก็จะมีประโยชน์ หรือเป็นการส่งต่อของที่มีคุณค่า ให้กับผู้อื่นได้นำไปเผยแพร่ต่อไป ที่สำคัญการขายของออนไลน์ จะทำให้คนวัยเกษียณที่ชอบเก็บสะสมของ ได้มีเพื่อนคุย อีกทั้งได้ให้ความรู้กับผู้อื่นเกี่ยวกับของสะสมชิ้นนั้น เช่นประวัติความเป็นมาและการดูแลรักษา และได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆผ่านการไลฟ์สด ที่สำคัญไม่เหงาเพราะมีกิจกรรมทำ เป็นต้น หรือแม้แต่วัยรุ่นยุคนี้ที่รู้จักคิด และมองโลกไกล ซึ่งผมมองว่าเขาเป็นนักสะสมที่มีความแหลมคม และมองว่าการสะสมของมือสอง เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของเด็กวัยรุ่นยุคนี้ เป็นทั้งงานอดิเรกและความบันเทิง ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เช่น ช่วงโควิด -19 ที่ผ่านมา เด็กวัยรุ่นนี้ได้นำของสะสมดังกล่าว ออกมาจำหน่ายเพื่อหมุนเวียน ให้กับคนที่ชื่นชอบในของแบบเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นที่ตัวเองมี ทำให้ผู้อื่นมีความสุข และเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติสิ่งของชิ้นนั้นๆไม่ให้สูญหาย ที่สำคัญเป็นการหารายได้ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาอีกด้วย”
หลักการสะสมของชิ้นโปรดในดวงใจ เลือกที่ชอบและประสบการณ์ส่วนตัว
หลักการเลือกสะสมของรัก ในแต่ละวัยอาจแตกต่างกัน เช่น หากเป็นคนวัยเกษียณนั้น มักจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์การดำเนินชีวิตของแต่ละคน เช่น ถ้าอยู่ในท้องถิ่นที่มีการทอผ้า ผู้สูงอายุอาจจะเลือกเก็บสะสมผ้าไทยเป็นต้น หรือถ้าหากอยู่ในชุมชน ที่ทำงานจักรสานหรืองานฝีมือต่างๆ ของสะสมอาจจะเป็นเครื่องมือโบราณ ในการทำงานฝีมือต่างๆ หรือ หากผู้สูงอายุรักต้นไม้ ก็อาจจะนิยมสะสมต้นไม้ ด้วยการปลูกต้นไม้พันธุ์แปลกหายากเป็นต้น ส่วนวัยรุ่นยุคใหม่อาจจะสะสมเสื้อผ้าสอง เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจะนำมาสู่การจำหน่าย และแลกเปลี่ยนความรู้ ในตัวสินค้าไปยังผู้สนใจร่วมกัน เช่น สินค้ามองสองที่เป็นคอลเลคชั่นของคนดังและหากยากบางชิ้น ที่เมื่อเวลาผ่านไปราคาจะขยับขึ้นไป หรือหากวัยรุ่นรักการอ่าน ก็มักจะเลือกสะสมหนังสือ ฯลฯ เป็นต้น โดยสรุปแล้วการเลือกสะสมของเป็นงานอดิเรกนั้น ขึ้นอยู่กับความชอบ ความรัก และรสนิยมของแต่ละคนครับ”
นักสะสมที่ดีต้องรู้เท่าทันกลหลอกลวง
หลักของการป้องกันตัวเอง จากการถูกหลอกซื้อของสะสมมูลค่าสูงนั้น แนะนำว่าให้ใจเย็นๆและพยายามหาข้อมูลของของสะสมที่เราสนใจให้รอบด้าน ที่สำคัญไม่แนะนำให้ซื้อเพราะความยากได้ แต่ให้ใช้เหตุผลที่ว่าเราสะสมของชิ้นนี้เพราะอะไร เพราะถ้าบอกว่าเราชอบของชิ้นนั้นจริงๆ ให้ดูที่กำลังซื้อว่าเพียงพอหรือไม่ และต้องไม่มองที่มูลค่าเป็นหลัก หากว่าเราอยากได้ของชิ้นนั้นมาสะสม ครับ