LIFESTYLE

เทคนิคดูแลสุขภาพจิตแจ่มใส-เสริมสร้างร่างกายแข็งแรง ด้วยแง่คิดทางพระพุทธศาสนา

มีคำแนะนำดีๆมาฝากคนทุกเพศทุกวัย เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ ตลอดช่วงเข้าพรรษานี้ ไม่ว่าแต่ละคนนั้นจะพบกับภาวะวิกฤตในชีวิต ที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร โดยเฉพาะความเครียดที่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจสังคม การเมือง หรือแม้แต่เรื่องครอบครัว กระทั่งการเสพโซเชียลมากเกินไป ที่นำมาซึ่งการคิดลบหรือจิตตก และนำมาสู่ภาวะซึมเศร้าหรือท้อแท้ในชีวิต เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพกายและใจ ตลอด 3 เดือนต่อจากนี้ และการมีสุขภาพที่ยืนยาวตลอดไปนั้น

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “ครูเฟิร์น-กัญญณัฎฐ์ สิริธารเบญจกุล” ประธานมูลนิธิปั้นเด็กดี ให้ข้อมูลการดูแลทั้งใจและกาย สำหรับผู้ที่ประสบภาวะวิฤตในชีวิตที่แตกต่างกัน ที่สามารถใช้คำสอน ในทางพระพุทธศาสนา ที่เน้นเรื่องการปล่อยวาง เพื่อทำให้จิตใจสงบ และทำให้ผ่อนคลายนอนหลับได้อย่างสบาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องฟังเทศนาธรรม แต่สามารถฝึกจิตให้สงบนิ่งด้วยนิทานธรรมะก่อนนอน รวมถึงการใช้กลิ่นน้ำทะเล ภูเขา หรือธรรมชาติบำบัด เพื่อทำให้จิตใจผ่อนคลาย จากปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตที่พบเจอ โดยการพาตัวเองออกไปพักผ่อน และการส่งเสริมสุขภาพกายที่ดี ด้วยการชวนลูกหลานเข้าวัดทำบุญ หรือ ทำกิจกรรรมเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมคุณค่าในตัวเอง ที่เป็นรากฐานของสุขภาพจิตที่แจ่มใส และสุขภาพที่แข็งแรงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

กัญญณัฎฐ์ กล่าวว่า “โดยปกติแล้วหลักในการมีสุขภาพจิตที่ดี และสุขภาพกายที่เข้มแข็ง ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา คือการปฏิบัติธรรม สวดมนต์ และถือศีลในช่วงวันพระ ที่สำคัญก็ต้องไม่ลืมขับถ่ายให้เป็นปกติเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว แต่ทั้งนี้วิธีการดูแลสุขภาพจิต ในภาวะที่หลายคนเกิดวิกฤตชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทอง ครอบครัว ความผิดหวังในเรื่องต่างๆนั้น บางครั้งการใช้ธรรมะก็ช่วยไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะอันที่จริงแล้วเราไม่สามารถเข้าวัด และปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา ดังนั้นบางคนที่เสพโซเชียล และทำให้เรารู้สึกจิตตกและคิดลบ ก็ยังจำเป็นต้องเสพสื่อต่อไป เพียงแต่ว่าเราต้องเลือกเสพสื่อ เช่น เฟซบุ๊กที่พูดถึงธรรมะ เป็นต้นว่า นิทานธรรมะ เพื่อลดความเครียด และความกังวลใจจากสิ่งที่ได้พบเห็นหรืออ่านเจอ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้เรานอนไม่หลับ”

ฟังนิทานธรรมะในยูทูป เทคนิคบำบัดเครียดฝึกจิตสงบ จากการเสพโซเชียลเกินพอดี ด้วยสื่อออนไลน์ที่มีประโยชน์

“ส่วนตัวครูเฟิร์นเองก่อนนอน จะฟังนิทานธรรมะ ซึ่งไม่ใช่การฟังเทศนาธรรม แต่ในนิทานธรรมะ เป็นการเล่าเรื่องของกรรม ผ่านการธุดงธ์ของพระสาลีบุตร เป็นต้น เมื่อเราฟังไปเรื่อยๆจิตจะนิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง พอจิตนิ่งเราจะหลับไปเอง ก็จะแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับ จากการเห็นการเสพข้อมูลข่าวสาร ในโลกออนไลน์มากเกินไป จนทำให้เครียดและนอนไม่หลับ เพราะบางคนนั้นเล่นเฟซบุ๊กและติ๊กต๊อกจนกระทั่งเวลาตี 1-ตี 2 ดังนั้นให้ลองเปลี่ยนมาเปิดช่องยูทูป ที่ใช้ชื่อว่า “หลวงตา” และ “ดูดิ ชาแนล” (DODI) ที่มีการเล่นนิทานธรรมะให้ฟัง มากกว่าการเทศนาธรรม พูดง่ายๆว่าเป็นการใช้โซเชียล เพื่อให้เราอยู่กับตัวเราได้ คล้ายกับวิธีเกลือจิ้มเกลือ ซึ่งเป็นการบริหารจิตใจให้รู้จักการปล่อยวาง และอยู่กับสิ่งที่เราเป็นนั่นเอง”

กลิ่นธรรมชาติ ช่วยบำบัดจิตใจผ่อนคลาย ลดภาวะซึมเศร้าจากการอยู่ลำพังได้

“สำหรับคนที่ยังรู้สึกเครียดกับปัญหาต่างๆ แม้จะฟังนิทานธรรมะแล้วก็ตาม การออกไปเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติ เช่น น้ำตก ภูเขา ทะเล ก็สามารถช่วยให้จิตใจผ่อนคลายขึ้น เพราะกลิ่นของธรรมชาตินั้น สามารถบำบัดจิตใจได้ เช่น กลิ่นของน้ำทะเล หรือ กลิ่นของต้นไม้ใบหญ้า และสีเขียวของต้นไม้ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นรู้สึกผ่อนคลายลง โดยเฉพาะที่มีภาวะซึมเศร้า เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องออกไป สูดกลิ่นของธรรมชาติ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ชอบอยู่เพียงลำพัง หรืออยู่กับตัวเองเยอะเกินไป ดังนั้นการไปเปิดโลก โดยออกไปท่องเที่ยว ในแหล่งท่องเที่ยว
ธรรมชาติช่วยได้ค่ะ”

พ่อแม่มีลูกวัยทีนส์ เน้นการสื่อสารด้วยความรักและห่วงใย เทคนิคลดความเครียดความกังวล ด้วยหลักปล่อยวาง

“นอกจากนี้วัยผู้ใหญ่ หรือคนที่อยู่ในวัยแม่ ที่เกิดความเครียดความกังวลใจ จากการที่เป็นห่วงลูกมากเกินไป แนะนำว่าให้ทำใจ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวนั้น ลูกสาวคนเล็กจะค่อนข้างติดเพื่อน และไม่ยอมกลับบ้านตรงเวลา ที่ผ่านมาเคยตามลูกกลับบ้าน แต่พอหยุดตามและคอยดูอยู่ห่างๆ สุดท้ายลูกกลับบ้านเอง ซึ่งตรงนี้ทำให้รู้ว่าการที่คนเป็นพ่อแม่ เอาความรักความห่วงใยเป็นที่ตั้งหรือเป็นตัวจับ โดยที่ไม่จับผิดลูก สุดท้ายเด็กจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า แท้จริงแล้วพ่อแม่ห่วงใยเขามาก และเขาก็เลือกกลับบ้านเองอย่างตรงเวลา”

“ทั้งนี้ครูเฟิร์นจะให้เทคนิคคำพูด ที่ทำให้ลูกรู้ว่าแม่เป็นห่วงเขามาก โดยที่ไม่มีการจับผิด เช่น “วันนี้กลับบ้านกี่โมงจ๊ะ? แม่ทำไข่พะโล้ไว้รอน่ะ?” ซึ่งเป็นการชวนคุย แทนที่จะพูดกับลูกว่า “อยู่ที่ไหน? ทำไมยังไม่กลับบ้าน? นี่กี่โมงแล้ว?” ซึ่งเป็นการจับผิดซึ่งจะทำให้เด็กไม่อยากกลับบ้าน ดังนั้นเมื่อเราจูนกับลูกได้ นั่นจะทำให้พ่อแม่รู้สึกเครียดน้อยลง และจะทำให้เรารู้สึกปล่อยวางได้เอง และเข้าใจเด็กว่าวัยของเขาแท้จริงแล้วก็เป็นแบบนี้ นั่นทำให้เราสามารถอยู่กับลูกได้ ในสภาวะที่เด็กแต่ละคนเป็นค่ะ”

ท่องบทสวดมนต์สั้นพร้อมคำแปล ช่วยสร้างสมาธิเติมความผ่อนคลายในใจได้

“ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ที่เน้นการเข้าวัดทำบุญถือศีล ลดอบายมุข และสวดมนต์ภาวนา เพื่อช่วยผ่อนคลายความทุกข์นั้น กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ เพราะเป็นกุศโลบายที่ทำให้จิตใจสงบ ไม่ว่าจะผ่านประสบการณ์อะไรมา เพียงแต่ว่าเวลาที่เราสวดมนต์นั้น แนะนำให้ท่องคำแปลของบทสวดมนต์นั้นด้วย เพื่อให้เราเข้าใจและอินกับความหมาย ของบทสวดมนต์นั้นมากขึ้น เช่น นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ” แปลว่า “ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง” เมื่อนั้นก็จะมีสาธิมากขึ้น และทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ แม้ว่าจะท่องบทสวดมนต์เพียงบทสั้นๆก็ตามค่ะ”

ส่งเสริมลูกหลานสุขภาพดีทั้งกายและใจ ตลอดเข้าพรรษานี้และตลอดไป ชวนทำกิจกรรมการกุศล สร้างความภูมิใจ-ช่วยเหลือสังคม

“สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่แข็งแรงนั้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พ่อแม่สามารถชวนลูกไปสวดมนต์ไหว้พระที่วัดได้ หากว่าเด็กๆได้รับการปลูกฝัง เรื่องการเข้าวัดจากพ่อแม่ แต่หากเด็กวัยไม่อินกับการเข้าวัด ก็แนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากลูก โดยการพาไปช่วยถือของไปทำบุญ หรือไปช่วยประเคนของถวายสังฆทานที่วัด หรือ ขอให้เด็กๆไปช่วยกวาดลานวัด ซึ่งอาจจะเป็นบางครั้งคราว หรือบางวันเสาร์-อาทิตย์ เช่น ในกรณีที่เด็กเบื่อหรือไม่ค่อยชอบไปวัด หรือ สลับในอาทิตย์ถัดไป โดยชวนเด็กไปทำกิจกรรมกับเด็กกำพร้า และเด็กพิการ เด็กตาบอด เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และได้ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม หรือจะเลือกกิจกรรมปลูกป่า ก็ถือเป็นการส่งเสริม ทั้งสุขภาพจิตที่แจ่มใส และสุขภาพกายที่แข็งแรง ได้ตลอดทั้งเทศกาลเข้าพรรษานี้ และตลอดไปกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ค่ะ”

Related Posts

Send this to a friend