LIFESTYLE

แนะรับมือโรคอ้วนวัยทำงาน เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) 4 มี.ค.

การตระหนักภัยโรคอ้วน เป็นเรื่องที่คนในสังคมไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานที่มักประสบกับปัญหาโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน อันเนื่องจากการขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย และสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันเต็มไปด้วย ร้านอาหารสะดวกซื้อ ที่มักจำหน่ายอาหารทำจากแป้งและไขมันที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วนลุงพุง และนำมาซึ่งโรคอ้วนน้ำหนักตัวเกิน หรือแม้แต่คนวัยชราที่มีปัญหาอ้วนลงพุง ที่เสี่ยงต่อโรคที่เกิดขึ้นจากภายในร่างกาย เช่น เบาหวาน ไขมัน ไขมันพอกตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพ ให้ปราศจากโรคอ้วน ในวันอ้วนโลกที่จะมาถึงในวันที่ 4 มีนาคมนี้

The Reporters ได้สอบถามไปยัง พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครื่อข่ายคนไทยไร้พุง จาก สสส.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติโรคอ้วน เนื่องจากการสำรวจสุขภาพ ของประชากรครั้งล่าสุด ปี 2563 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปนั้น มีค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 (ค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 อยู่ในกลุ่มโรคอ้วน) คิดเป็นร้อยละ 42 หรือใน 10 คน จะมีคนอ้วน 4 คน และในทุกๆปีจะพบคนเป็นโรคอ้วน (คนอายุ 15 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคนเศษ ดังนั้นการปรับพฤติกรรม ในการควบคุมน้ำหนัก เพื่อให้สังคมไทยมีคนเป็นโรคอ้วนน้อยลง ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้างเสริมสุขภาพ และลดปัญหาค่าใช้จ่าย ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และที่ลืมไม่ได้นั้นปัญหาโรคอ้วน ทำให้โลกร้อนได้เช่นเดียวกัน

พญ.วรรณี กล่าวว่า “ จากการสำรวจข้อมูลสุขภาพประชากร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2554 กระทั่งปีล่าสุดอย่างปี 2563 พบว่าคนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้น มีภาวะอ้วนขึ้นหรือมีค่าดัชนีมวลกว่าเกิน 25 ขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 42 ทั้งนี้รอบพุงของคนวัยนี้ จะมีลักษณะที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับสูตรคำนวนรอบพุงที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ เช่น ผู้ชายที่มีส่วนสูง 160 เซ็นติเมตร ให้ใช้วิธีหารด้วย 2 โดยเอาส่วนสูงเป็นตัวตั้ง เช่นส่วนสูง 160 เซ็นติเมตรและหารด้วย 2 ก็จะได้รอบพุงอยู่ที่ 80 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นผู้หญิงนั้นจะวัดรอบพุง ที่บริเวณเหนือสะดือ หรือบริเวณสะโพก เช่น ผู้หญิงสูง 150 เซ็นติเมตร ให้หารด้วย 2 จะได้รอบพุงที่พอดีคือประมาณ 75 เซ็นติเมตร แต่หากเกินกว่านี้ถือว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง”

ส่วนวิธีคำนวนน้ำหนักตัวนั้น แนะนำว่าให้ใช้สูตร เช่น หากผู้หญิงสูง 160 เซนติเมตร ให้ลบด้วย 100 และคูณด้วย 0.8 ก็จะได้น้ำหนักตัวที่ปกติ คือประมาณ 50 กิโลกรัม ส่วนผู้ชายนั้นหากสูง 180 เซนติเมตร ให้ลบด้วย 100 และคูณด้วย 0.9 ก็จะได้น้ำหนักตัวที่ปกติ คือ 72 กิโลกรัม สำหรับสูตรคำนวณหาค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI นั้น แนะนำว่า ให้นำหนักตัว(กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เซนติเมตร) และยกกำลังสอง เช่น ถ้าคุณมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม หารด้วยส่วนสูง 155 ซม.จากนั้นให้ยกกำลังสอง ก็จะได้ค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ประมาณ 25.39

“ทั้งนี้ในคนปกติค่าดัชนีมวลกายจะอยู่ที่ประมาณ 18.5 -29.9 แต่ถ้าคุณมีลักษณะท้วมเล็กน้อย ค่าดัชนีมวลกาย จะอยู่ที่ประมาณ 23-24.9 แต่ถ้าหากค่าดัชนีมวลกายของคุณอยู่ที่ 25 ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคอ้วน แต่ถ้าอ้วนมากกว่านั้นค่าดัชนีมวลกายจะอยู่ที่ 30 ขึ้นไป แต่ถ้าค่าดัชนีมวลกายสูงถึง 40 ถือว่าอยู่ในขึ้นของโรคอ้วนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ผู้ที่ภาวะรอบพุงเกิน ก็จะนำมาสู่โรคอ้วนลงพุง และเป็นโรคอ้วนอย่างเต็มตัวในที่สุด ”

อ้วนลงพุงเสี่ยงสารพัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“สำหรับผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงนั้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สมัยก่อน คนมักจะคิดว่าเป็นโหวงเฮ้งของคนที่มีกิน หรือเป็นเถ้าแก่ แต่ปัจุบันผู้สูงอายุที่มีพุงนั้น จะพบว่ามีไขมันอยู่ในช่องท้อง เป็นจำนวนมาก และเกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งนอกจากทำให้เสียบุคลิก ทั้งจากพุงที่โตส่วนแขนขาจะเล็ก ยังส่งผลให้สุขภาพเสียตามมาด้วย เพราะจะทำให้เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต สมองเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด และยังทำให้เป็นโรคปอดเรื้อรัง เพราะคนที่อ้วนนั้นจะหายใจลำบาก ทำให้ปอดทำงานหนักเกินไป นอกจากนี้ในคนอ้วนก็จะทำให้เป็นโรคเก๊าท์ได้เช่นเดียวกัน รวมถึงโรคหยุดหายใจขณะหลับอีกด้วย”

โรคอ้วนกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และยังกระตุ้นโลกร้อนได้เช่นกัน

จากข้อมูลพบว่าในแต่ละปีนั้น คนที่อายุมากว่า 15 ปีขึ้น จะมีแนวโน้มอ้วนขึ้นสูง ถึงปีละประมาณ 1 ล้านคนเศษ ดังนั้นผลกระทบจากโรคอ้วนมีทั้งสุขภาพ และเศรษฐกิจคือ จะทำให้บริษัทที่มีพนักงานที่เป็นโรคอ้วน ต้องใช้งบประมาณในการดูแลคนกลุ่มนี้มากขึ้น และคนกลุ่มนี้จะลางานบ่อย ทำให้กระทบรายได้ของตัวเอง และการทำงานในองค์กร หรือทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ที่สำคัญยังทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากการรับประทานอาหารมากเกินไป อีกทั้งขณะเดินทางไปทำงาน น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น จะกระตุ้นการใช้พลังงานน้ำมัน ทั้งจากรถยนต์ส่วนตัวและรถสาธารณะให้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จึงเป็นการกระตุ้นปัญหาโลกร้อนไปด้วยในตัว

สาเหตุของโรคอ้วนคนทำงานในออฟฟิศ

สาเหตุของโรคอ้วนในคนทั่วไป รวมถึงผู้ที่ทำงานในออฟฟิศนั้น 1.กินเยอะ 2.กินไม่ถูกสุขลักษณะ 3.ขาดการออกกำลังกาย 4.นอนไม่พอ 5.เครียด แต่สาเหตุหลักของโรคอ้วนลงพุงแ ละโรคอ้วนน้ำหนักตัวเกินนั้น เกิดการกินและสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้น ให้คนวัยนี้เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น เช่น สิ่งแวดล้อมรอบๆที่ทำงาน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนมีน้ำหนักตัวเกิน เช่น ร้านขายขนมเบเกอรี่ หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ที่มักจะขายอาหารที่มีส่วนผสมของแป้ง และน้ำมันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเบเกอรี่ หรือขนมปังที่เราคิดว่าไม่มีน้ำมัน แต่จริงๆแล้วมีน้ำมันในปริมาณที่เยอะ เวลาจับจะมีน้ำมันติดอยู่ที่มือของเรา รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ผักแพง และในผักมีสารเคมี จึงทำให้คนเมืองกินผักผลไม้น้อยลง และหันไปบริโภคอาหารที่มีแป้งและน้ำมัน ในปริมาณที่เยอะขึ้นแทน จึงทำให้อ้วนง่าย และไขมันเกาะตับเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสิ่งแวดล้อมของคนเมือง จึงกระตุ้นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่เด็กวัยมหาวิทยาลัย กระทั่งถึงวัยทำงาน ส่วนวัยรุ่นนั้นจริงๆแล้วเป็นวัยที่กลัวอ้วนมากกว่าวัยอื่นๆค่ะ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นักวิชาการ กระทรวงเกษตร ต้องรวมมือกันเพื่อให้คนเมือง ได้กินผักผลไม้ที่ปลอดเคมี แทนการบริโภคอาหารไขมันสูง หรือในเมืองใหญ่ ที่จำเป็นต้องจัดให้มีบริการที่จอดรถสาธารณะ เพื่อให้คนนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอด เพื่อที่จะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไปทำงาน ซึ่งระหว่างที่จะไปขึ้นรถไฟฟ้า ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้น ให้คนเดินออกกำลังกายมากขึ้น ดังนั้นทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน กระตุ้นการขยับเพื่อป้องกันโรคอ้วนร่วมกันค่ะ

กินถูกวิธีช่วยลดโรคอ้วนได้

การกินที่ถูกวิธีสามารถช่วยป้องกันโรคอ้วนได้ เช่น การอ่อนหวาน อ่อนมัน และอ่อนเค็ม โดยเฉพาะน้ำตาลจากเครื่องดื่ม ในรูปแบบกระป๋อง หรือ ชาไข่มุก ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเยอะ หรือมากกว่า 2 ช้อนโต๊ะ ก็เสี่ยงทำให้เป็นโรคอ้วน ซึ่งอันที่จริงแล้วใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ซึ่งคิดเป็น 2 ช้อนโต๊ะ นอกจากนี้ในวัน 1 วันไม่ควรกินของทอดเกิน 1 ชิ้น เช่น หากกินน่องไก่ทอดในมื้อเช้าไปแล้ว ภายใน 1 วันที่เหลือ จะต้องไม่กินอาหารทอด หรืออาหารที่ใช้น้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นเมนูใดก็ตาม เลี่ยงไปกินอาหารจากการปิ้ง หรือต้มแทน ที่สำคัญไม่ควรกินอาหารทอดติดต่อกันทุกวัน

นอกจากก็แนะนำให้เลี่ยงอาหารติด เช่น หนังไก่ติดมัน หมูสามชั้น หรือขนมเบเกอรี่ หรือขนมอบที่มีน้ำมัน เช่น ถ้าจะกินขนมปังชนิดแผ่น ก็แนะนำให้กินเป็นขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขาว และให้รับประทานเพียงวันละ 1 แผ่น หรือเต็มที่ไม่เกิน 2 แผ่น เพราะขนมปัง 1 แผ่นนั้น จะให้พลังงานเท่ากับข้าว 1 ทัพพี ดังนั้นใน 1 มื้อผู้หญิงไม่ควรกินข้าวหรือแป้งเกิน 2 ทัพพี จึงไม่ควรกินขนมปังเกิน 2 แผ่น ถ้ากินขนมปัง 2 แผ่น จะต้องไม่ขนมหวานเพิ่ม ส่วนผู้ชายนั้นไม่ควร กินข้าวเกินมื้อละ 4 ทัพพี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมหรืองานที่ทำ เช่น หากผู้ชายทำงานด้านการเกษตร ก็จำเป็นต้องการแป้งในการสร้างพลังงานให้ร่างกาย ดังนั้นเราจึงสังเกตได้ว่าคนที่ทำงานหนัก กินข้าวเยอะ เหตุใดจึงไม่อ้วน แต่กลับมีกล้ามเนื้อที่แขนขาแทน เนื่องจากพลังงานที่กินเข้าไป ได้รับการเผาผลาญจากการทำงานหนัก เป็นต้น

เดินออกกำลังกายลดโรคลดพุงได้

การออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคอ้วนที่ดีที่สุด คือการเดินเพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย นอกจากรองเท้าที่เหมาะกับการเดินเท่านั้น หรือจะเลือกเล่นกีฬาเป็นทีมก็ได้ เช่น แบดมินตัน ตีปิงปอง หรือจะเลือกว่ายน้ำ หรือพายเรือ ฯลฯ แต่ถ้าคนที่ภาวะอ้วนลงพุง หรืออ้วนมากๆที่ต้องการลดน้ำหนัก ก็แนะนำให้เดินออกกำลังดีที่สุด ทั้งนี้ 1 อาทิตย์แรก แนะนำให้ควบคุมอาหารงดของหวานมันเค็มให้น้อยที่สุด และเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม จากนั้นอาทิตย์ต่อมาให้เริ่มออกกำลังกายด้วยการเดินช้าๆ วันละ 15-20 นาที ซึ่งถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบปานกลาง จากนั้นอาทิตย์ที่ 3 ให้เริ่มเปลี่ยนมาเดินเร็วขึ้น หรือเดินให้ได้ประมาณ 100 ก้าว ต่อนาที และอาทิตย์ที่ 4 ให้เริ่มเดินเร็วขึ้นกว่าเดิม หรือให้ได้ 120 ก้าวต่อนาที วันละประมาณ 30 นาที กระทั่งเราสามารถเดินเร็ว ได้นานประมาณวันละ 1 ชั่วโมง จนเกิดความเคยชิน และสามารถวิ่งจ็อกกิ้งได้ประมาณวันละ 30 นาที และสเต็ปสุดท้ายคือการวิ่งให้ได้ 9-12 กิโลเมตรภายใน 1 ชั่วโมง ก็จะช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดโรคลดพุงลดความอ้วนได้

Related Posts

Send this to a friend