‘สกพอ.’ ผนึก ‘เอชเอสบีซี’ เชื่อมโยงการลงทุนระดับโลก สร้างโอกาสดึงเงินลงทุนตามเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี สู่พื้นที่อีอีซี
วันนี้ (27 ก.พ. 68) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และ จอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ดึงดูดการลงทุนระดับโลกสู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงนักลงทุนในระดับภูมิภาคและนักลงทุนระดับโลกในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ ผ่านเครือข่ายระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซีใน 58 ประเทศและเขตดินแดน สร้างโอกาสการลงทุนจากตลาดสำคัญ อาทิ จีน ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น
ความร่วมมือระหว่างสององค์กร มีเป้าหมายสนับสนุน สกพอ. ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจริงในพื้นที่รวม 5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี ขับเคลื่อนการเติบโตในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และอุตสาหกรรมบริการ เพิ่มขีดความสามารถของไทยในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลก
ดร.จุฬา กล่าวว่า เขตอีอีซี ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลงทุนที่มีมูลค่าสูง เชื่อมโยงไปถึงพื้นที่และชุมชน ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีเป็นอย่างมาก การขยายขีดความสามารถของพื้นที่และระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการลงทุนเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเติบโตของอีอีซี การผนึกกำลังร่วมกับธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่แข็งแกร่งใน 58 ประเทศและเขตดินแดน จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนการลงทุนจากทั่วโลก
ทั้งสององค์กรจะร่วมแสวงหานักลงทุนที่มีศักยภาพ อาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซีเพื่อปลดล็อคโอกาสการลงทุน โดยปี 2568 ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จะให้การสนับสนุนในกิจกรรมโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซีในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งจีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น
สกพอ. มุ่งมั่นสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุนและดำเนินธุรกิจผ่านการสนับสนุนตลอดทุกขั้นตอน ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจสำคัญ สนับสนุนด้านการนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ครบวงจรให้แก่นักลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาดโลก เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับไทยในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก
จอร์โจ กล่าวว่า ไทยกำลังได้รับความสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และอีโคซิสเต็มในด้านการผลิตที่ครอบคลุม ในปี 2567 ไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติเป็นมูลค่ากว่า 7.27 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 20 ปี และอีอีซีถือเป็นศูนย์กลางของการเติบโตนี้ โดย 78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีราว 5.68 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 2.56 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัล 9.5 หมื่นล้านบาท และยานยนต์แห่งอนาคต 8.7 หมื่นล้านบาท
ธนาคารเอชเอสบีซี เล็งเห็นถึงแนวโน้มธุรกิจจีนขยายการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 องค์กรธุรกิจจีนที่เข้ามาดำเนินกิจการในอาเซียนผ่านเครือข่ายของธนาคารเพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อน ขณะที่ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนสำคัญ ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ตั้งแต่ปี 2561 ถึงไตรมาส 3 ปี 2567 มีเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 2.75 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ไทยยังดึงดูดการลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากมีแหล่งพลังงานมั่นคงและเศรษฐกิจดิจิทัลขนาดใหญ่อันดับสองของภูมิภาค โดยล่าสุด สกพอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์จีน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะขยายโอกาสความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสองประเทศ
อินเดีย และตะวันออกกลาง ยังถือเป็นระเบียงการลงทุนที่สำคัญสำหรับประเทศไทยด้วยเช่นกัน ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งและโอกาสจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกัน โดยเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญด้านการเงินของธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศเหล่านี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่พื้นที่อีอีซีได้มากยิ่งขึ้น
เอชเอสบีซี จะอาศัยความเชี่ยวชาญของธนาคารฯ ในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศ เข้ามาสนับสนุน สกพอ. ในการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากระเบียงเศรษฐกิจสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการนำเสนอโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจร อำนวยความสะดวกในการเริ่มดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน เชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับ สกพอ.จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก