ประกาศข้อแนะนำร่วม ‘Fin4Bio’ เชื่อมโยงภาคการเงินและภาคธุรกิจกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD-Agence Françoise de Développement) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และบลูเรเนซองส์ ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านงานสัมมนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “Fin4Bio” (Finance for Biodiversity) เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการริเริ่มกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยมีองค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคการเงินร่วมเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก
โครงการ Fin4Bio ได้รวบรวมความคิดเห็นในการพัฒนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย จากนั้นจัดทำเป็นข้อเสนอแนะร่วมการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Fin4Bio Joint Recommandation) เพื่อสร้างการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนการพัฒนา Taxonomy ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ส่งเสริมให้มีการประเมินและเปิดเผยความเสี่ยงของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มาตรการสิ่งจูงใจสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแก่ธรรมชาติ โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 31 องค์กร ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอแนะดังกล่าว
ฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ทำให้โลกต้องหันมาสนใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ทั้งนี้ ประเทศฝรั่งเศสเริ่มสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม และหวังที่จะร่วมกับประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแก่ธรรมชาติ เพื่ออนาคตที่ดีของทุกคน
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้นำด้านนโยบายของประเทศ กล่าวถึงการบูรณาการการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในมุมมองของนักนโยบาย โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างนโยบายของชาติในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคธุรกิจ
ดร.เนติธร ประดิษฐ์ เลขาธิการและกรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เท่าเทียม มุ่งเน้นการสร้างธรรมชาติเชิงบวก และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ต้องขับเคลื่อนพร้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยต้องส่งเสริมความโปร่งใสผ่านการติดตามและการรายงานอย่างเป็นระบบ ให้เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร
แมทธิว บอ-ลออองส์ (Mathilde Bord-Laurans) ผู้อำนวยการฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพกับยุคการปรับตัวจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเน้นย้ำถึงการปรับตัวของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น
การประกาศข้อเสนอแนะร่วมขององค์กรต่าง ๆ ในงานสัมมนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการแสดงออกที่สำคัญ ซึ่งแสดงถึงการมองเห็นความสำคัญในการลงทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และการประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป