บีโอไอสั่งเพิกถอนสิทธิประโยชน์ ‘ซิน เคอ หยวน’ ชั่วคราว

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สั่งเพิกถอนการใช้สิทธิประโยชน์ของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยที่ผ่านมา บีโอไอได้ยกเลิกการส่งเสริมกิจการเหล็กหลายประเภท เพื่อปกป้องผู้ประกอบการไทย พร้อมย้ำจุดยืนในการส่งเสริมกิจการที่มีความสำคัญต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดประโยชน์ต่อประเทศ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือถึงบีโอไอ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 แจ้งว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรมฯ และพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 บอร์ดบีโอไอที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน จึงมีมติให้เพิกถอนการใช้สิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราว โดยไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ได้ใช้ไปแล้วของบริษัทดังกล่าว ซึ่งได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตเหล็กแท่ง (Billet) ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ 1235(2)/2556 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ จนกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะมีหนังสือแจ้งว่าอนุญาตให้บริษัทกลับมาดำเนินการผลิตได้ และหากกระทรวงอุตสาหกรรมเพิกถอนหนังสือรับรองการประกอบกิจการโรงงาน บีโอไอจะนำเสนอคณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างที่กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่น ๆ ยังตรวจสอบรายละเอียดและดำเนินการตามกฎหมายไม่แล้วเสร็จ
นายนฤตม์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาบีโอไอไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้เข้าตรวจสอบโรงงานของบริษัท ซิน เคอ หยวน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริง และได้แจ้งเตือนให้บริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นได้เร่งนัดประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีท่านรองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 เพื่อพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ดบีโอไอ เพื่อดำเนินการในทันที เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างที่กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่าง ๆ กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง”
สำหรับประเด็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็ก บีโอไอได้ยกเลิกการส่งเสริมเหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น และเหล็กข้ออ้อย มาตั้งแต่ปี 2543 ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กอื่น ๆ บีโอไอได้เฝ้าระวังและหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เพื่อรับมือกับภาวะผลิตภัณฑ์เหล็กล้นตลาด และปัญหาการทุ่มตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กก่อสร้าง โดยในปีที่ผ่านมา บอร์ดบีโอไอได้ออกประกาศยกเลิกการส่งเสริมการผลิตเหล็กหลายประเภท เช่น เหล็กแท่ง เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันอย่างรุนแรง อีกทั้งได้ลดสิทธิประโยชน์เหลือเฉพาะสิทธิที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tax) สำหรับกิจการผลิตเหล็กทรงแบน (เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นไร้สนิมรีดร้อนหรือรีดเย็น เหล็กแผ่นหนา เหล็กแผ่นเคลือบ) และกิจการผลิตเหล็กทรงยาว (เหล็กรูปพรรณ เหล็กเพลา ลวดเหล็ก) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทย และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในประเทศ
ทั้งนี้ บีโอไอ ย้ำจุดยืนในการส่งเสริมกิจการที่มีความสำคัญต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจการที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การจ้างงาน การพัฒนาบุคลากรไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนา การเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบในประเทศ การส่งออกเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของซัพพลายเชน รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศ