HUMANITY

เด็กๆ กำพร้าดอยก่อ ในวันขาดแคลนหนัก อดอยาก-สุขภาพย่ำแย่ เหตุมาตรการโควิดปิดพรมแดน

วันนี้ (5 ส.ค. 63) ที่บริเวณใกล้จุดตรวจชายแดนค่ายผู้พลัดถิ่นรัฐฉาน ดอยก่อวัน ตรงข้ามบ้านพญาไพร ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้มีการนำข้าวสารและเงินบริจาคส่งมอบให้แก่คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน ภายหลังจากทราบข่าวความเดือดร้อนของผู้พลัดถิ่นในช่วงที่มีการปิดด่านพรมแดนเนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา

นางสาวหอม กรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน เปิดเผยว่าขณะนี้มีค่ายผู้พลัดถิ่นในรัฐฉาน ตลอดแนวพรมแดนไทยพม่า ตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ทั้งหมด 6 ค่าย รวมประชากร 6,100 คน กำลังได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมาตรการปิดพรมแดน โดยในค่ายดอยก่อวันมีชาวบ้านกว่า 2,500 คน ซึ่งขณะนี้ออกมารับจ้างที่ฝั่งไทยไม่ได้ เสียรายได้ 100% เคยรับจ้างเก็บใบชา กิโลกรัมละ 5 บาท มีรายได้ตกวันละ 200 บาท นำมาซื้ออาหาร ส่งลูกเรียน ซึ่งสองปีที่ผ่านมาค่ายผู้พลัดถิ่นในรัฐฉานถูกตัดความช่วยเหลือจากผู้บริจาค ถูกตัดการสนับสนุนข้าวสาร ชาวบ้านจึงต้องหาซื้อเอง

กรรมการผู้ลี้ภัยกล่าวว่า เวลานี้ทหารพม่ายกกำลังมาประชิดใกล้กับค่าย อยู่ตามหุบเขา ทำให้ชาวบ้านยิ่งหวาดกลัว เดิมทีชาวบ้านเหล่านี้อาศัยอยู่ที่เมืองตุม เมืองกาน นายาว แต่กองทัพว้า โดยการสนับสนุนของกองทัพพม่า ยึดบ้านเรือนไร่นาของชาวบ้านไป จากค่ายดอยก่อวัน ยังสามารถมองเห็นอยู่ แต่ทำอะไรไม่ได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่แถบนี้ในการปกครองของกองทัพว้า ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่

นายเปต๊ะ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลในค่ายดอยก่อวัน กล่าวว่าเวลานี้พบว่าชาวบ้านเริ่มขาดสารอาหาร มีอาการขาแข็ง อ่อนเพลีย เดินไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กๆเริ่มเป็นโรคขาดสารอาหาร ตั้งแต่ปิดด่านพรมแดนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง ปอด หอบหืด มาลาเรีย ซึ่งพอจะสามารถรักษาได้ มีชาวบ้านเป็นไข้เลือดออกก็ส่งลงไปรักษาที่ฝั่งไทย ต.เทอดไท

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐฉาน กล่าวว่าที่ค่ายแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 16 คน มี 30 เตียง ตอนนี้เต็มเกือบหมด มีปัญหามากคือขาดอุปกรณ์การแพทย์ ยารักษาโรคเนื่องจากปิดด่านทำให้ไม่สามารถขนส่งมาได้ ขาดยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคกระเพาะ ยาผิวหนัง

“เด็กๆ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิต้านทานน้อย อากาศเปลี่ยน และมีการการใช้สารเคมีในไร่ชารอบๆ ตอนนี้ความต้องการเร่งด่วนคือยารักษาโรค วัคซีนบาดทะยัก ตอนนี้ไม่มีเลยสักขวด ร้านยาขายให้ไม่ได้ต้องให้แพทย์สั่ง และไม่มีงบประมาณสนับสนุน เด็กๆ กำลังขาดสารอาหาร จะเริ่มรุนแรงหากทอดระยะเวลาออกอีก 2-3 เดือน บางส่วนอาจป่วยเป็นโรคโลหิตจาง และโรคต่างๆ บางครั้งผมไม่รู้จะทำยังไง คิดไม่ออก แต่หากเปิดด่านเพื่อมนุษยธรรม อย่างน้อยก็สามารถข้ามไปฝั่งไทย” นายเปต๊ะ กล่าว

เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้บริจาครายย่อย แต่ก็ไม่เพียงพอ มีคนส่งยามาก็ใช้หมดในเวลารวดเร็ว งบที่ต้องการคือราว 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน คนไข้ 1,500-3,000 คน ต่อปี ช่วงโควิด มีเด็กเกิดแล้ว 1 คน รอคลอดอีก 2 คน มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว เพราะคลอดก่อนกำหนด และป่วยเป็นหอบหืด หากด่านเปิดก็น่าจะรอด

นายเหล่ามอน ครูใหญ่โรงเรียนในค่ายดอยก่อวัน กล่าวว่า เวลานี้สถานการณ์ของนักเรียนคือขาดอาหารมาก เมื่อก่อนพ่อแม่ออกไปทำงาน รับจ้างฝั่งไทย พอที่จะมีเงินมาซื้ออาหาร แต่ตอนนี้ลำบาก มากๆ เด็กโตเคยช่วยพ่อแม่เก็บชา พอมีรายได้ซื้ออาหารก็ทำไม่ได้ ข้าวสารก็แทบไม่มี มีที่คณะกรรมการฯ ช่วยหามาให้ ช่วงที่ปิดด่านพรมแดนนั้นลำบากมาก ผลกระทบด้านการศึกษา เด็กนักเรียนจำนวน 80 คนเรียนโรงเรียนฝั่งไทย ทั้งชั้นประถมและมัธยม แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ไม่ให้ข้ามด่านไป ครูในค่ายจึงหารือกันว่าจะให้เรียนหนังสือไทใหญ่ สอนวัฒนธรรมไทใหญ่

ที่ค่ายนี้โรงเรียนมีเด็กกำพร้า 24 คน อายุ 6-19 ปี กำพร้าเพราะรัฐฉานมีการสู้รบ พ่อแม่ตาย หรือครอบครัวโดนเรื่องยาเสพติด ก็มาอยู่หอพักเป็นเด็กกำพร้า ตอนนี้พวกเขาขาดแคลนทุกๆด้าน อาหารกลางวันของเด็กๆ ใช้งบประมาณ คนละ 15 บาทต่อมื้อ วันละ 45 บาท เมื่อก่อนเคยมีผู้สนับสนุน แต่ตอนนี้ไม่มี แม้กระทั่งสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผงซักฟอก ก็ไม่มีใช้       ครูใหญ่ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend